ไวรัสเขมร กลายพันธุ์ ตายภายใน 24 ชั่วโมง

ไวรัสเขมร กลายพันธุ์ ตายภายใน 24 ชั่วโมง

ไวรัสเขมร  กลายพันธุ์

ไวรัสเขมร กลายพันธุ์

ถือสถานการณ์ในเขมรตอนนี้ก็แย่มาก เพราะเด็กกัมพูชาเสียชีวิตไปแล้วกว่า  60  ราย  อีกทั้งยังอพยพมาฝั่งไทยเกือบทุกวัน  ทำให้ขณะนี้ชายแดนเต็มไปด้วยเด็กเขมร  ทำให้คนไทยที่อยู่แนวชายแดนมีความหวั่นวิตกเรื่องโรคนี้เป็นอย่างมาก  กลัวจะแพร่ระบาดในหมู่เด็กๆ ไทย

แม้องค์การอนามัยโลก (ฮู) จะยืนยันว่าเชื้อโรคลึกลับ ที่ทำให้เด็กกัมพูชาเสียชีวิตกว่า 60 ราย คือเชื้อไวรัส “อีวี 71” หรือเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 : EV 71) แต่ที่ยังสร้างความกังขาให้แก่นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกคือ ทำไมเชื้อตัวนี้ในเขมรจึงรุนแรงกว่าที่อื่น !?!

ศ.ดร.พิไลพรรณ พุทธวัฒนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า เชื้อไวรัสอีวี 71 สามารถแยกย่อยเป็นหลายสายพันธุ์ (genogroup หรือ genotype) มี 3 สายพันธุ์ใหญ่คือ เอ, บี 1-บี 5 และซี 1-ซี 5 จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกข่าวว่าเชื้อที่กัมพูชาเป็นไวรัสอีวี 71-ดี 4 นั้น อาจจะยังเร็วไปที่จะสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ดี 4 เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังมีความเห็นแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มศึกษาลักษณะพันธุกรรมของไวรัสอย่างละเอียดและให้ข้อคิดเห็นว่า เชื้อซี 4 นั้นแตกต่างจากเชื้อในกลุ่มซีด้วยกันค่อนข้างมาก จึงควรจัดกลุ่มขึ้นใหม่เป็นกลุ่มดี แต่นักวิจัยบางกลุ่มพบว่าเชื้อไวรัสระบาดใหญ่ในเมืองจีนมีผู้ป่วยหลายหมื่นคนในช่วงปี 2551 นั้น เป็นไวรัสกลายพันธุ์ผสมกันระหว่างไวรัสอีวี 71 และเชื้อไวรัสคอกซากีเอ 16 หรือเป็นการผสมกันระหว่างเชื้ออีวี 71 สายพันธุ์บี และซี จึงควรจัดเป็นกลุ่มดี สำหรับการแบ่งย่อยเป็นดี 4 นั้น ในขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลทางพันธุกรรม

ทั้งนี้ เชื้ออีวี 71 ซี 4 นั้น พบเมืองไทยครั้งแรกปี 2549 คาดว่าระบาดมาจากเมืองจีน มีเด็กไทยติดเชื้อและเสียชีวิตจากอาการทางระบบประสาท โดยไม่มีผื่นบนผิวหนังเลย จากนั้นก็พบเชื้อตัวนี้อีกเมื่อปี 2550 และปี 2551 โดยไม่ก่อโรคและการระบาดที่รุนแรง คาดว่าเชื้อซี 4 นี้ยังคงมีอยู่ในประเทศไทยจนปัจจุบัน

“ปกติเชื้อไวรัสอีวี 71 จะไม่ร้ายแรงมาก แต่ถ้าหากเป็นสายพันธุ์ซี 4 อาจจะรุนแรงกว่าตัวอื่น ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดทำให้เด็กเขมรตายนั้น เชื่อว่าเป็นไวรัสอีวี 71 ที่กลายพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังไม่รู้รายละเอียด แพทย์ที่ลงไปในพื้นที่รายงานว่า เชื้ออีวี 71 ที่กัมพูชามีลักษณะพิเศษคือติดง่าย รุนแรงผิดวิสัยของเชื้อตัวนี้ ที่สำคัญคือเด็กมีอาการไข้ขึ้นสูงตัวร้อนจัด พอมาโรงพยาบาลได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็เสียชีวิต เพราะปอดบวม หายใจไม่ได้ และร่างกายของเด็กก็ไม่มีผื่นจุดแดงหรืออาการมือ เท้า ปากเปื่อยด้วย จึงอยากเตือนให้ผู้ปกครองในเมืองไทยเฝ้าระวังลูกเล็กให้ดี โดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 5 ปี ในกัมพูชาส่วนใหญ่ต่ำกว่า 3 ปี หากเด็กมีอาการไข้สูงจัดประมาณ 39 องศา ให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที อย่าไปสนใจว่าจะมีแผล ผื่นหรือจุดแดงขึ้นตามมือหรือปาก เพราะเชื้อนั้นอาจไม่ได้ทำให้เกิดอาการมือ เท้า ปากเปื่อยก็ได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัสอีวี 71 โดยตรง ถ้าลูกหลานในบ้านมีอาการไข้ขึ้นสูงจัด ให้ส่งถึงมือแพทย์ทันทีเพราะหมอจะมีวิธีลดไข้และรักษาตามอาการ อยากเตือนแพทย์ทุกคนว่า เชื้ออีวี 71 กลายพันธุ์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีอาการผื่นแดงตามร่างกายหรือมือ ปาก เท้าเปื่อย และมักพบในเด็กเล็กวัย 3 ขวบ”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสส่วนใหญ่เกิดโรคไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ในเวลาไม่กี่วัน อาการเหมือนไข้หวัด บางครั้งอาจทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปากเปื่อย และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ฯลฯ เชื้อตัวนี้อาจทำให้เกิดโรคซ้อนมากกว่า 1 โรคได้ ส่วนอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อย คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายกับโรคโปลิโอ

หากเชื้อลุกลามเข้าไปในเนื้อสมองจะทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ เคยมีการระบาดรุนแรงที่ประเทศบัลแกเรียในปี 2518 ประเทศฮังการีปี 2521 ประเทศมาเลเซียปี 2540 ไต้หวันปี 2541, 2543 และ 2544 พบในประเทศไทยปีแรก 2541

ล่าสุดพบการระบาดในกัมพูชาตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ทำให้เด็กเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ราย เคยมีการผ่าชันสูตรศพเด็กที่เสียชีวิต ผลปรากฏว่าพบเชื้อไวรัสอีวี 71 ในไขสันหลังและเนื้อสมองของผู้ป่วยเกือบทุกราย อาการเด็กที่มาถึงโรงพยาบาลจะคล้ายคลึงกันคือมีไข้สูง 2-4 วัน มาถึงโรงพยาบาลเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง บางรายมีอาการของโรคมือ เท้า ปากเปื่อย แต่บางรายไม่มี ส่วนการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อนั้น ควรระวังเรื่องอุจจาระและการไอ จาม เพราะเด็กเล็กมักไม่ระมัดระวังเรื่องการรักษาความสะอาด ต้องล้างมือบ่อยๆ หลังจากสัมผัสร่างกายหรือสิ่งของผู้ป่วย

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กกัมพูชาเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหลังจากติดเชื้อไม่นาน อาจเป็นเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่พบลูกมีไข้สูงจะพาไปร้านขายยา หรือคลินิกเล็กๆ มักจ่าย “ยาชุด” ที่รักษาแบบครอบคลุมทุกโรค ยาชุดส่วนใหญ่มีส่วนผสมของสาร “สเตียรอยด์” (Steroid) ซึ่งเป็นสารกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ขณะที่ร่างกายเด็กไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันเท่าผู้ใหญ่ เมื่อถูกสารสเตียรอยด์กดไว้ยิ่งทำให้ไข้สูงหัวใจเด็กจะทำงานหนัก เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว น้ำท่วมปอด และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว จึงขอเตือนไม่ให้ซื้อยากินเอง หากเด็กป่วยมีอาการไข้สูง ตัวร้อนจัด ซึม อาเจียน ไม่กินอาหาร แขนขากระตุก ให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที แม้จะไม่มียารักษาโดยตรง แต่หมอจะมียาลดอาการชักและเครื่องช่วยหายใจ

 

Credit:  คม  ชัด  ลึก

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ