• Home »
  • ShowSlideAll »
  • วิกฤติหนัก ขั้วโลกเหนือเจออากาศร้อนหนักที่สุดในรอบ 115 ปี
วิกฤติหนัก ขั้วโลกเหนือเจออากาศร้อนหนักที่สุดในรอบ 115 ปี

วิกฤติหนัก ขั้วโลกเหนือเจออากาศร้อนหนักที่สุดในรอบ 115 ปี

        สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.58 ว่า องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (เอ็นโอเอเอ) เผยรายงานอาร์กติก รีพอร์ต การ์ด 2015 เมื่อวันอังคาร เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือ ระบุว่า อุณหภูมิอากาศของพื้นที่อาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือประจำปีนี้ ซึ่งบันทึกระหว่างเดือน ต.ค. 2557 – ก.ย. 2558 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.3 องศาเซลเซียส และสูงกว่าช่วงเวลาในช่วงแรกเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 20 ราว 3 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกครั้งแรกเมื่อปี 2443

         ปริมาณน้ำแข็งที่มากที่สุดของปี วัดได้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา นับเป็นปริมาณน้อยที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกครั้งแรกเมื่อปี 2522 ขณะที่ปริมาณน้ำแข็งน้อยที่สุดในรอบปีคือเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีปริมาณน้ำแข็งน้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 นับแต่ปี 2522 นอกจากนี้น้ำแข็งพื้นผิวโดยทั่วภาคพื้นทวีปยังลดลงในอัตราร้อยละ 18 ต่อทศวรรษ นับแต่ปี 2522

         นายริค สปินราด ผู้อำนวยการเอ็นโอเอเอ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในพื้นที่เขตอาร์กติก เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่อื่นๆ ถึงกว่าเท่าตัว การละลายของน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ในปีนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดนับแต่ปี 2555 โดยมีพื้นผิวหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ 9 แห่ง ละลายหายไปเป็นพื้นที่ราว 16.5 ตารางกิโลเมตร การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องลงไปยังระดับน้ำชั้นบนของมหาสมุทรได้มากขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการสังเคราะห์ด้วยแสงและการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของสาหร่าย ซึ่งในปี 2558 พบว่ามีการแพร่กระจายในวงกว้างของแพลงตอนพืช ทั้งในทะเลอาร์กติกและชายขอบไหล่ทวีป ซึ่งรวมถึงพื้นน้ำทางตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกของเกาะกรีนแลนด์ ทะเลแบริงระหว่างอะแลสกาและรัสเซีย รวมถึงทะเลแบเรนต์ ทะเลคารา และทะเลลัปเตฟ ทางตอนเหนือของรัสเซีย

        การหายไปของธารน้ำแข็งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตขั้วโลก โดยเฉพาะสิงโตทะเลที่ใช้แพน้ำแข็งสำหรับการหาคู่ คลอดลูก หาอาหาร รวมถึงหลบภัยจากพายุและนักล่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สิงโตทะเลไปรวมตัวกันจำนวนมากในบริเวณที่ยังมีแผ่นน้ำแข็งหลงเหลือ ทำให้เกิดการแออัดจนนำไปสู่การเหยียบกันตาย เป็นเหตุให้มีลูกสิงโตทะเลถูกฆ่าตายจำนวนมาก.“

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  เดลินิวส์

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ