ศาสตร์แห่งกาลเวลา

ศาสตร์แห่งกาลเวลา


         ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีคำว่า เลขผา แปลว่า ใช้กันในภาษาโหร หมายถึง เลขผานาที คำที่เราได้ยินได้ฟังมา คือ เลขผานาที ฤกษ์ผานาที กับ ฤกษ์พานาที ซึ่งล้วนแล้วต่างก็เป็นความหมายของโหรทั้งสิ้นคือ ระยะเวลาที่เป็นฤกษ์ คำว่าฤกษ์ ความหมายคือ คราวหรือเวลาซึ่งเหมาะสมเป็นชัยมงคล โบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า การเลือกเฟ้นเวลาที่จะทำงานให้ประสบส่วนดี ด้วยประการทั้งปวง สำเร็จได้สมประสงค์ ไม่มีเหตุร้าย งานประสบความสุขสำเร็จราบรื่น มีคำยกย่องสรรเสริญ เจ้าของงานมีความสุขกายสบายใจ
          การให้ฤกษ์ชัยในสมัยโบราณ กฎเกณฑ์การหาฤกษ์ และการห้ามฤกษ์ ท่านโหราจารย์ยุคก่อน ๆ นั้น ท่านได้ศึกษาค้นคว้าและความสังเกต การหาฤกษ์ชัยที่เหมาะสมกับงานพิธีต่าง ๆ ที่ยาวนาน บางครั้งโหรต้องวางฤกษ์ไว้ล่วงหน้าถึง 3 – 4 ปี อาทิการวางฤกษ์ที่สำคัญของบ้านเมือง เช่น ดวงฤกษ์วางเสาหลักเมือง เพราะกฎเกณฑ์การห้ามฤกษ์นั้นมีมาก ท่านโหราจารย์ได้ใช้ความสังเกตมาแต่โบราณกาล จึงวางกฎเกณฑ์การหาฤกษ์ชัยสำหรับพิธีมงคลต่าง ๆ ไว้ เพื่อหวังให้เกิดส่วนดีมากขึ้นด้วย ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หากจะเกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ขอให้มีแต่น้อยหรือผ่อนหนักเป็นเบา
         สมัยนี้คนเราใจร้อน ส่วนมากการดูฤกษ์ชัย ฤกษ์ยาม เหมือนจะบังคับให้ผู้รู้ ท่านโหรยุคใหม่ และพระภิกษุ ต้องดูฤกษ์จากวันที่เท่านี้ไปยังวันที่เท่านั้นให้ได้ เหมือนอาจารย์หรือผู้รู้ต้องดูฤกษ์ชัยตามคำสั่งของผู้ขอเท่านั้น โอกาสที่จะหาระยะเวลาที่ดีที่สุด ในการวางฤกษ์อย่างสมัยโบราณแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว ผมคิดว่าท่านผู้รู้ในอดีต ท่านคงเหมือนกับผมคิดไว้ เมื่อขาดการสืบทอดเจตนารมณ์ที่แท้จริง ผู้รู้ทุกท่านค่อย ๆ ปล่อยวิชา หรือถ่ายทอดวิชาโดยปราศจากศิษย์ หรือบางแห่งได้นำศาสตร์แห่งความรู้ทั้งปวง ออกมาสู่สาธารณชนในรูปแบบต่าง ๆ ผมถือว่าเป็นส่วนดีมากที่ชาวบ้านทั่วไป ได้รู้เรื่องวันเวลาที่เหมาะสมจากตำราต่าง ๆ หรือจากปฏิทินล้านนา แม้ว่าบางแห่งบางสำนักพิมพ์ จะพยายามนำรูปแบบออกมาสวยงามมาก แต่ก็ไม่สามารถรู้วันเวลาได้ครบครัน มีปฏิทินของเชียงใหม่ฉบับหนึ่งเมื่อหลายปีที่ ผ่านมา ผมดูแล้วดีมากซึ่งไม่ต้องพลิกดูความหมายใดๆ จากด้านหลัง คือดูครั้งเดียวก็รู้เรื่องแล้ว อย่างไรก็ตามที วันเวลาแห่งล้านนาที่ผมอยากจะขอร้อง อยากจะให้เน้นข้างขึ้นข้างแรมของ วันอ่างเลือด และ วันวอดวาย อยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของช่องวันที่เลย เพราะสองสิ่งนี้มีความสำคัญมาก ที่ไม่เหมาะแก่การ สร้างบ้านแปงเมือง ชาวบ้านก็จะได้รู้ และมีเวลาดูวันที่ดีต่อไป
         ศาสตร์แห่งกาลเวลาของล้านนา ที่ผมศึกษาครั้งแรก ๆ นั้น หลวงพ่อฯท่านให้ท่องบ่นให้คล้องจองกัน เพื่อจดจำให้ขึ้นใจ แต่เมื่อเวลาที่จะศึกษาหาความรู้ของโบราณาจารย์ทั่วไป จากคู่มือการใช้ปฏิทินฤกษ์บน-ฤกษ์ล่าง การสังเกตปฏิทินที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ที่มีอยู่สองระบบ คือ ระบบสุริยคติกาล และระบบจันทรคติกาล การคำนวณจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
         ผมถือว่า กว่าจะมาเป็นโหราจารย์ในยุคโบราณ ท่านผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร กว่าจะนำหลักการของวิชาโหราศาสตร์ไทยออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน มีหลายอาจารย์ที่ผมชอบมาก จึงได้ติดตามศึกษาค้นคว้าวิชาของท่านผู้รู้นั้นมานานเกือบสามสิบปี
         อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อดี แต่ก็มีกฎเกณฑ์หาฤกษ์และห้ามฤกษ์มาสู่สาธารณชนเหมือนกัน ซึ่งมีมากมายหลายสิบข้อ ข้อปลีกย่อยที่ชาวบ้านมักจะจดจำไว้ก็คือ การวางฤกษ์ วัน เดือน ปีนักษัตรที่เป็นศัตรูต่อเจ้าของงาน อาทิเช่น เกิดวันอาทิตย์ ห้ามวางฤกษ์วันอังคาร เกิดวันจันทร์ ห้ามวางฤกษ์วันพฤหัสบดี เป็นต้น คำโบราณที่ท่องจำกันมาว่า ห้ามปลูกบ้านวันเสาร์ เผาผีวันศุกร์ โกนจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ สงฆ์ 14 งานที่เกี่ยวกับสงฆ์ทั้งดิถีข้างขึ้นหรือข้างแรม นารี 11 เผาผี 15 สมรส 7 ท่านห้ามทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้อห้ามนี้เป็นคติโบราณที่ไม่ควรมองข้าม ต้องระลึกเสมอว่า บรรพชนโบราณาจารย์ของเราไม่ว่าภาคไหน ท่านเก่งมากนะครับ ที่อุตส่าห์เขียนและจารคัมภีร์โหราศาสตร์ให้แก่คนรุ่นเราได้ศึกษา เชื่อถือไว้ไม่เสียหาย และไม่เชื่อก็อย่าได้ลบหลู่เป็นอันขาด ส่วนทางปฏิทินล้านนาที่กำลังออกสู่สายตาของชาวบ้าน นำเสนอ วันไท หรือวันแม่มื้อที่ลูกมื้อมีถึง 60 วันเช่น วันดับไค้ อย่าตัดผม ไปม่ายสาว สาวบ่ชมบ่สู้ (แปลเอาเอง) วันฟ้าตีแส่ง หรือฟ้าตี่แสง สำหรับพิธีการต่าง ๆ กับข้อห้าม เช่นวันใดที่มีฟ้า ตี่แสงเศษ 3 เศษ 7 ไฟจักไหม้ ประสบอุบัติเหตุ ฯ เป็นต้น วันดิถีทั้ง 5 วันเสีย วันจม วันฟู วันลอย และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ควรศึกษาไว้ สมัยก่อนกว่าจะรู้วันจ๋มวันฟู หรือวันอัมริสสโชค กับวันเสีย ผมต้องใช้เวลานานค่อย ๆ ร่ายเรียงหาฤกษ์งามยามดี กับวันห้ามวันเสียไว้นานเป็นปี เดี๋ยวนี้ชาวบ้านทั่วไปรู้แล้วว่า วันไหนจะหาฤกษ์พานาทีให้แก่ลูกหลาน เพียงแต่ว่า ความละเอียดอ่อนของวันเวลา ที่เปลี่ยนฤกษ์ล่างและฤกษ์บนของทุกวัน และวันต่อวันนั้นท่านอาจจะไม่ทราบได้ ความละเอียดอ่อนของตำราโบราณล้านนา ที่วันมหามงคลกรณีที่มีทั้งสามฤกษ์ชัยอยู่ในวันเดียวกัน อาทิเช่น วันอมริสสโชค-ราชาโชค และเป็นวันฟู แต่เป็นวันเสียของเดือน ทำให้ทุกคนที่เลือกเฟ้นต้องคิดหนัก หลวงพ่อว่าเป็นกุศโลบายของโบราณาจารย์ ท่านบอกว่าให้บวกลบคูณหารกันเอาเอง แม้ว่าบางท่านก็หลบไปเอาวันแบบสบาย ๆ แต่ข้อห้ามของไทยสากลเรา ๆ อย่าวางลัคนาลอย ว่างเปล่ายิ่งข้อห้ามที่มีมากหลายสิบข้อห้าม ที่รวมไปถึงผู้เกิดเดือนใดไม่ควรจัดงานในเดือนนั้นๆ ปีนักษัตรที่มีกฎชั้นวรรณะซึ่งเป็นสาเหตุที่มาคำของว่า ชงกัน นั่นแหละ
          หลวงพ่อครูบากัญไชย ฯ และพ่อลุงหนานอ้วน หลอดแก้วทองแดง ผู้เป็นทั้งพระอาจารย์และอาจารย์ของผม พระเดชพระคุณนอกจากจะเป็นผู้ทรงวิทยาคม และพระอภิญญาบารมี แต่ในด้านโหราศาสตร์ท่านก็ไม่เป็นรองใคร ท่านบอกผมว่า ถ้าดูตำราเมืองก็เอาเมืองเพียงอย่างเดียว ดูแล้วสบายใจ แต่หลายท่านที่รู้จักผมดี จะรู้ว่าผมชอบศึกษาค้นคว้า เวลาวางฤกษ์ใด ๆ ก็จะดูทั้งสามสี่ตำรา ทั้งของล้านนา ของไทยภาคกลาง ทั่วไปและจีนหน่ำเอี๊ยง ผมจะนำทุก ๆ ตำรามากางดู จะเลือกเฟ้นวันที่ดีที่สุดให้กับคนที่นับถือ และศรัทธาในผลงานของผมอีกมุมหนึ่งในด้านโหราศาสตร์สมัครเล่น หากเป็นสมัยก่อนท่านลองนึกภาพดูซิครับว่า ผมจะใช้เวลากี่วันที่วางฤกษ์ให้ท่าน
ชัย เมืองฉอด

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ