แก๊งอ้างเป็นตัวแทนธนาคาร กู้ฟรีไม่เสียดอก

หลอกชาวบ้านที่ความรู้น้อยเป็นเหยื่อ  อ้างเป็นตัวแทนจากธนาคาร  ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ  อ้างว่ากู้เงินได้ไร้ดอกเบี้ย  ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

แก๊งแสบแอบอ้างเป็นตัวแทนธนาคาร หลอกชาวบ้าน

แก๊งแสบแอบอ้างเป็นตัวแทนธนาคาร หลอกชาวบ้าน

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (15 ส.ค.) พ.ต.ท.เจตนิพัทธ์ สิริอมราภรณ์ อายุ 43 ปี ผอ.ฝ่ายนิติการธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่เลขที่ 72/326 ซอยบึงขวาง 1/1 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี รับมอบอำนาจจากประธานธนาคารดังกล่าว พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 20 คน เข้าพบ พ.ต.ท.ก้องภพ มาสืบชาติ พงส.(สบ2) กก.3 บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างชื่อธนาคารหมู่บ้านฯ หลอกลวงชาวบ้านให้เข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกธนาคารดังกล่าว โดยนำแผ่นซีดีบันทึกภาพและเอกสารที่เกี่ยวข้อง มอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน

พ.ต.ท.เจตนิพัทธ์ กล่าวว่า ธนาคารหมู่บ้านฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนาที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนตามชนบท ต่อมาจึงได้รับอนุญาตจากสำนักพระราชวัง ให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539 และดำเนินการเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกรเรื่อยมา กระทั่งเมื่อช่วงต้นปี 2555 มีกลุ่มบุคคลแอบอ้างชื่อธนาคารหมู่บ้านฯ แต่เพิ่มเติมว่าเป็น “ธนาคารหมู่บ้านไบโอดีเซลและสหกรณ์พลังงานเพื่อไทยตามแนวพระราชดำริ” พร้อมกับใช้ตราสัญลักษณ์ฯ ออกประกาศเชิญชวนชาวบ้านใน 20 จังหวัด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สมัครเป็นสมาชิกธนาคารฯ โดยอ้างว่าจะสามารถกู้เงินได้ตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป โดยปราศจากดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5 ปี กลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังอ้างกับชาวบ้านด้วยว่า มีเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศเป็นจำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธนาคารแห่งนี้ แต่ชาวบ้านจะต้องมีตัวแทนขึ้นมา 5 คน ในหมู่สมาชิกจำนวน 500 คน โดยในส่วนของตัวแทนทั้ง 5 คนนี้ จะได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนเดือนละ 10,000-20,000 บาท

พ.ต.ท.เจตนิพัทธ์ กล่าวว่า หลังจากนั้นกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้บอกกับตัวแทนชาวบ้านที่จัดตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ว่าจะต้องจัดทำป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 2 พระองค์ ไว้ที่บ้านของ 1 ใน 5 ตัวแทนกลุ่ม โดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำป้ายและค่าติดตั้งเป็นเงินระหว่าง 3,000-7,000 บาท กรณีการทำป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ตนได้สอบถามจากร้านที่รับจัดทำป้ายดังกล่าวที่ จ.บึงกาฬ ทราบว่าการจัดทำมีราคาอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของป้าย จึงพบข้อพิรุธว่ามีการแอบอ้างเพื่อเรียกเก็บเงินในส่วนนี้จากชาวบ้านไป โดยพบว่าเกิดขึ้นในหลายจังหวัด มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก หลังจากทราบเรื่องทั้งหมด จึงตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารดังกล่าวก็พบว่าเป็นการแอบอ้าง รวมทั้งทางสำนักพระราชวัง ได้เคยมีหนังสือชี้แจงกับสื่อมวลชนไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ไม่มีธนาคารดังกล่าวอยู่ในโครงการของสำนักพระราชวังแต่อย่างใด จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ บก.ป.ในครั้งนี้.

 

Credit:  เดลินิวส์

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ