เครือข่าย พนง.ราชการ ชงปรับโครงสร้างค่าตอบแทนใหม่

ภาพประกอบอินเตอร์เน็ท

ภาพประกอบอินเตอร์เน็ท

พนักงานราชการ ชงปรับโครงสร้างค่าตอบแทน และอัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่ พร้อมเสนอเกณฑ์กลาง เพื่อใช้ในการบริหารดูแลพนักงานราชการ ทั้งเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ขณะที่ 6 ก.ค.นี้ นัดถกหาแนวทางเพื่อสร้างความเป็นธรรม ด้าน “กำจร” ชี้ สกอ.ไม่มีอำนาจอนุมัติ เพราะอำนาจการบริหารจัดการขึ้นกับมหา’ลัย แต่ได้มอบให้ ทปอ.ทั้งของ ม.รัฐ มรภ.และ มทร.ไปดูความเป็นไปได้ก่อนสรุปนำเสนอขอความเห็น ก.พ.อ.

นายสุมิตร สุวรรณ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาในการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยได้เสนอแนวทางแนวทางปฏิบัติ/เกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย ดังนี้ สวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลไม่น้อยกว่าของระบบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เคยได้รับ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ ได้แก่ การประกันสังคม การประกันสุขภาพกลุ่ม ค่ารักษาพยาบาลบิดามารดา คู่สมรสและบุตร ปีละ 50,000 บาท ให้สะสมได้ การตรวจสุขภาพประจำปี เงินค่าเล่าเรียนบุตร เงินช่วยเหลือค่าทำศพ เงินตอบแทนพิเศษประจำปี (โบนัส) การเลื่อนขั้นเงินเดือน ปีละ 2 ครั้งๆ 3% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานสะสม ร้อยละ 4-8 มหาวิทยาลัยสมทบ 8% กองทุนสวัสดิภาพบุคลากร การให้เงินกู้ สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย/หอพัก/ค่าเช่าบ้าน ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม การลาศึกษาต่อ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์

นายสุมิตร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น จะเสนอปรับโครงสร้างโครงสร้างค่าตอบแทน/อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของพนักงานมหาวิทยาลัยดังนี้ ในระยะ 2 ปีแรก 1.ให้จ้างพนักงานสายวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 2.ให้จ้างพนักงานสายสนับสนุนวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ในระยะ 2 ปีถัดมา 1.ให้จ้างพนักงานสายวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.6 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 2.ให้จ้างพนักงานสายสนับสนุนวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.4 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ

3.การได้รับเงินประจำตำแหน่ง โดยแบ่งเป็น สายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) 5,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท รองศาสตราจารย์(รศ.) 9,900 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 9,900 บาท ศาสตราจารย์ (ศ.) ระดับ 10 13,000 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 13,000 บาท ศาสตราจารย์ (ศ.) ระดับ 11 15,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 15,600 บาท ส่วนสายสนับสนุนวิชาการ ชำนาญการ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท เชี่ยวชาญ 9,900 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 9,900 บาท เชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 13,000 บาท สำหรับเรื่องการออกจากงานกรณีพนักงานสัญญาจ้าง ทดลองงาน 1 ปี สัญญาต่อไปจนถึง 60 ปี แต่สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้ ถ้าไม่ผ่านการประเมิน ให้ใช้วิธีการประเมินแบบ 360 องศา/คณะกรรมการ

ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยมอบหมายให้ ทปอ. ทปอ.มรภ.และ ทปอ.มทร.ไปศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของหลักเกณฑ์ตามที่เครื่อข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยเสนอมา เพราะการบริหารจัดการต่างๆ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย สกอ.ไม่มีอำนาจไปบังคับ และหากได้ข้อสรุปอย่างไร จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พิจารณาอีกครั้ง หาก ก.พ.อ.เห็นชอบ จะต้องออกเป็นประกาศ ก.พ.อ.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ทางเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยจะจัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การระดมความคิดเพื่อหาแนวปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัย ดำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพและสวัสดิภาพของชีวิตทั้งในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัย รวมทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพของอุดมศึกษาไทย ที่ห้องประชุม ปรีดี พนมยงค์ อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต โดยหน่วยมีงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

Credit by manager.co.th

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ