สธ.เสนอ ก.พ.ขออัตรากำลัง 31,914 อัตรา คาด รู้ผลสิงหาคมนี้

 

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท

สธ.เผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรของสาธารณสุข โดยขอ ก.พ.  บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการพลเรือนกว่า 31,914 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ กว่า 17,000 อัตรา คาด รู้ผลในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ และจัดทำระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข รองรับลูกจ้างชั่วคราว ไว้เป็นทางเลือกที่มั่นคง เงินเดือนสูงกว่าราชการ 15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกองทุนบำเหน็จฯ ดำรงชีพหลังเกษียณ 

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายแพทย์ ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์ สมชัย นิจพานิช รองปลัด สธ. ได้พบตัวแทนพยาบาลวิชาชีพ ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ กว่า 500 คน ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี เพื่อชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหากำลังคนของกระทรวงฯและความคืบหน้าการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการพลเรือน

โดย นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน และจัดบริการด้านสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บุคลากร 2.การจัดการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง และ 3.การพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นปัญหาที่เร่งด่วนคือ เรื่องบุคลากร ซึ่งเป็นกลไกหลักการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยบริการสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 10,000 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 24 ชั่วโมง มีบุคลากรทั้งหมด 340,000 คน แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวมากถึง 120,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพ และมีความเสี่ยงการสูญเสียออกจากระบบตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 110 ล้านครั้ง เป็น 150 ล้านครั้งต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการแก้ไขปัญหาบุคลากร นั้น ได้วางแผนไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การขอบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่ทำหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลให้เป็นข้าราชการพลเรือน ในปี 2555 นี้ จำนวน 31,914 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 17,000 อัตรา แนวทางที่ 2 คือ การจัดทำร่างระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข บรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่เหลืออีกประมาณ 90,000 อัตรา ซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ มีสิทธิอบรมพัฒนาความรู้ความชำนาญในสายวิชาชีพ และมีกองทุนบำเหน็จบำนาญคล้าย กบข.เมื่อเกษียณอายุจะได้รับเงินกองทุนสำหรับดำรงชีพ ขณะนี้ร่างระเบียบเรียบร้อยแล้ว และแนวทางที่ 3 การออกจาก ก.พ.จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.แนวทางที่มีความเป็นไปสูง คือ แนวทางที่ 1 และ 2 ซึ่งจะเดินควบคู่กัน

ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ขอ ก.พ.จำนวน 31,914 ตำแหน่งนั้น ได้มอบให้ นายแพทย์ โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะหารือกับ ก.พ.จะรู้ผลในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ ในการบรรจุ หากได้พร้อมกันทั้งหมดตามจำนวนที่ขอไป ก็สามารถดำเนินการบรรจุได้ทันที แต่หากเป็นการทยอยบรรจุเป็นรายปีไม่พร้อมกัน ก็จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์การบรรจุเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในกลุ่มของพยาบาลวิชาชีพจะพิจารณาตามปีที่จบการศึกษา และปีที่เริ่มทำงานในสถานบริการสาธารณสุข ไม่เกี่ยวกับโควตาของโรงพยาบาล

Credit by manager.co.th

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ