ประวัติเจ้าพ่อพะวอ ณ ศาลเจ้าพ่อพะวอ ข้อมูลสำหรับนักเรียน นักศึกษา

เจ้าพ่อพะวอ ณ ศาลเจ้าพ่อพะวอ

เจ้าพ่อพะวอ ณ ศาลเจ้าพ่อพะวอ

ประวัติเจ้าพ่อพะวอ  ณ  ศาลเจ้าพ่อพะวอ  ข้อมูลสำหรับนักเรียน  นักศึกษา 

1. เป็นประวัติที่มูลนิธิเจ้าพ่อพะวอจัดทำขึ้นโดยตรง
2. จากตำนานเล่าขานที่มาจากความจริงทั้งมวล
3. วันอัญเชิญประวัติเกิดปาฏิหาริย์ฟ้าคำรน
4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก, หน่วยงานภาครัฐ , องค์กร , เอกชนที่เคยเผยแพร่ข่าวสารที่มีอยู่เดิม ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขประวัติ ตามข้อมูลของมูลนิธิเจ้า พ่อพะวอจัดทำขึ้น ตั้งแต่ปี 2544
5. หากศึกษาข้อมูลที่ละเอียด เยี่ยมชมที่ www.pawo234.co.cc และ www.pawopnpmaesod.com และอ่านหนังสือประวัติเจ้าพ่อพะวอ ของมูลนิธิเจ้าพ่อ พะวอ , หนังสือเถระประวัติ หลวงพ่อครูบากัญไชย กาญจโน จะมีข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบครัน

ท่านเจ้าพ่อพะวอ เป็นชายชาตินักรบชาวกะเหรี่ยงปะกากะญอ มีศักดิ์ฐานะเป็นนายด่านแม่ละเมา เมืองหน้าด่านของไทยในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากบุคลิกภาพของท่านแสดงถึงเอกลักษณ์ของนักรบโบราณ เรือนกายกำยำสูงใหญ่ ถือง้าวเป็นอาวุธ ใบหน้าเครียดขึงขังดุดัน แต่แววตาแฝงด้วยความเมตตาปรานี
ต้นปีมะแมสัปตศก ปีพุทธศักราช 2318 ขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประทับอยู่ที่เมืองหลวง ทรงทราบว่า ด่านแม่ละเมาสามารถจับตัวนายครัวมอญที่แตกหนีพม่าจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำให้พระองค์ทรงทราบว่าอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพแห่งกรุงอังวะ อาจจะยกทัพใหญ่เพื่อติดตามครัวมอญเข้ามาตีไทยอย่างแน่นอน และทรงเชื่อว่าอะแซหวุ่นกี้ตระเตรียมทัพใหญ่ต้องเข้ามาตีทางหัวเมืองฝ่ายเหนือเพื่อตัดกำลังของไทย ก็มิได้นิ่งนอนพระทัย ดำรัสสั่งเกณฑ์กองทัพทั้งทางบก และทางเรือสรรพด้วยช้างม้า เครื่องสรรพ-วุธพร้อมเสร็จ พลฉกรรจ์ลำเครื่อง ทั้งไทยจีนจำนวนมาก โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ พร้อมขุนศึกนายกองมือฉกาจ ขึ้นไปสืบราชการศึกป้องกันหัวเมืองหน้าด่านที่สำคัญเอาไว้ สั่งกรมพลาเรื่องอาหารการกินให้สมบูรณ์ อย่าให้มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง

ลุเดือน 11 ปีมะแมสัปตศก ปีพุทธศักราช 2318 ครานั้น.. อะแซหวุ่นกี้ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าอังวะ ได้เคลื่อนทัพมายังไทยโดยจัดเป็นทัพใหญ่ทัพเดียว มีมังแยยางูผู้น้อง กับ กละโบ่ ปันยีแยช่องจ่อ ปันยีจวง ถือพลสองหมื่นห้าคุมทัพหน้า ตะแดงมอระหน่อง และเจ้าเมืองตองอูเป็นทัพกลาง อะแซหวุ่นกี้เป็นโบชุกแม่ทัพหลวง ถือพลหมื่นห้าพันคนรั้งท้าย สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพวุธพร้อมเสร็จ เคลื่อนทัพจากเมืองเมาะตะมะข้ามแม่น้ำต่องยินแล้วหยุดทัพไว้ที่นั่น การเคลื่อนทัพของพม่าอยู่ในสายตาของทหารไทยบนยอดเขาผาวอ ที่อยู่เหนือด่านแม่ละเมาตลอดเวลา ท่านเจ้าพ่อพะวอจึงให้ม้าเร็วนำข่าวไปแจ้งยังเมืองตาก เมืองระแหง เมืองกำแพงเพชร และเมืองอื่น ๆ ตามรายทางเพื่อรวบรวมกำลังไว้ตีต้านพม่า แต่ท่านเจ้าพ่อพะวอ และไพร่พลผู้กล้าหาญทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เมืองต่าง ๆ เห็นว่าพม่ายกทัพมาครั้งนี้มีแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่เหลือกำลังที่จะตีต้านได้ ต่างอพยพครอบครัวหนีไป แล้วส่งหนังสือบอกไปถึงทัพของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ให้แจ้งไปยังกรุงธนบุรีกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ

ลุ…ถึงปลายเดือนสิบเอ็ด ปีมะแมสัปตศก พุทธศักราช 2318 ( 31 ตุลาคม ) ครานั้น… กองทัพอันเกรียงไกรของพม่า เคลื่อนทัพมาถึงด่านแม่ละเมาในเพลานั้น เจ้าพ่อพะวอตัดสินใจนำกำลังที่มีอยู่เข้าปะทะกับข้าศึกอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เป็นการขัดตาทัพและประวิงเวลา รอกำลังส่วนหนึ่งจากเมืองตากที่ท่านเจ้าพ่อพะวอเข้าใจว่าจะมาช่วยเหลือทัน นายด่านพะวอและทหารกล้าทั้งหลาย ได้เข้าต่อสู้กับพม่าด้วยน้ำใจที่ห้าวหาญ และแล้วน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใด ท่านรู้ดีว่ากำลังของพม่านั้นเหลือคนานับ ท่านรู้ได้ดีว่ากำลังส่วนหนึ่งที่เข้าใจว่าจะมาช่วย คงช่วยไม่ทันศึกครานี้เป็นแน่ จักต้องสู้เพื่อศักดิ์ศรีของคนไทย ขอถวายชีวิตเป็นชาติพลี จักได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกหลานสืบไป ท่านและทหารกล้าได้ต่อสู้กับพม่าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทุกคนยอมตายถวายชีวิตไม่ยอมหลบหนีศัตรูแม้แต่ก้าวเดียว ทุกท่านถึงแก่ชีวิต ณ ยุทธภูมิด่านแม่ละเมา เชิงเขาผาวอแห่งนี้

เรื่องราวและหลักฐานต่าง ๆ เป็นตำนานเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่มาหลายชั่วคน ถึงวีรกรรมของนายด่านพะวอที่ปักหลักสู้กับพม่าอย่างยิบตา ที่กองทัพพม่ากรีธาทัพหลวงเป็นครั้งสุดท้ายผ่านด่านแม่ละเมา ไปยังเมืองตาก เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า ท่านและผู้กล้าทั้งหลาย คือวีรบุรุษผู้กล้าหาญ ผู้มีความเสียสละชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินอันเป็นมรดก ที่บุรพชนชาติไทยได้สละชีวิตปกป้องอย่างหวงแหนสืบทอดกันมาจนถึงยุคสมัยของท่าน ท่านเจ้าพ่อพะวอ และผู้กล้าหาญทั้งหลาย แม้ว่าจะมิได้มีชื่อในพระราชพงศาวดาร แม้จะมิได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อย่างใกล้ชิด แต่ถือได้ว่า ท่านเป็นข้าแผ่นดินโดยตรงที่รับราชการเป็นผู้รักษาประตูเมืองด่านแรกของไทย แม้จะเป็นซีกเสี้ยวส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บอกเล่าของท้องถิ่นถึงการรุกรานของข้าศึกศัตรูผ่านด่าน ผ่านหมู่-บ้านเป็นที่ตั้งกองสอดแนมเพียงกระหยิบมือเพียงชั่วครูชั่วยามก็ตามที แต่นั่น… คือที่มาของเกียรติประวัติของผู้กล้าหาญทั้งหลายที่ถูกเล่าขานกันต่อ ๆ มา ที่สมควรแก่การยกย่องและเคารพเทิดทูนวีรกรรมของท่าน

สมศักดิ์ เชาวกีรติพงศ์
อดีตนักข่าว – นักเขียน – นักค้นคว้า
รองประธานมูลนิธิเจ้าพ่อพะวอ
2523 – ปัจจุบัน
กลุ่มงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอำเภอแม่สอด

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ