• Home »
  • ShowSlideAll »
  • โชว์ระบบจ่ายยาอัตโนมัติผลงานนักวิจัยไทยเครื่องแรกในไทย
โชว์ระบบจ่ายยาอัตโนมัติผลงานนักวิจัยไทยเครื่องแรกในไทย

โชว์ระบบจ่ายยาอัตโนมัติผลงานนักวิจัยไทยเครื่องแรกในไทย

           วันนี้ (25 สค.58) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซล(TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด แถลงข่าวเปิดตัว บีไฮฟ์ 1 ( B-Hive1 ) ระบบจัดและลำเลียงยาอัตโนมัติที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯโดยทีเซลได้สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งล่าสุดนักวิจัยจากทีเซล มจธ. และริษัทสุพรีมไฮทีร่า จำกัด สามารถพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์“บีไฮฟ์ 1 ( B-Hive1 ) หรือระบบจัดและลำเลียงยาอัตโนมัติ” ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของโครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคเอกชนและยังช่วยให้นักศึกษาได้มีโอกาศเรียนรู้ในสถานที่ทำงานจริง ดร.ทิชากรวงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้จัดการโครงการจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์หรือทีเซล เปิดเผยว่า นวัตกรรมนี้เกิดจากความต้องการของบริษัทสุพรีมไฮทีร่า ที่ต้องการผลิตเครื่องจ่ายยาที่เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยซึ่งมีการใช้งานยาหลากหลายประเภททั้งชนิดแผงกล่อง ขวด หรือตลับที่เครื่องจ่ายยาที่มีอยู่ในท้องตลาดไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด ต้องใช้คนช่วย นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องความเร็วทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยที่มารับยาที่โรงพยาบาลได้ ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยทีเซล ฟีโบ้ และสุพรีม จึงร่วมกัน พัฒนา บีไฮฟ์ 1 ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเน้นความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย สำหรับบีไฮฟ์ 1 ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถรับใบสั่งยาโดยตรงจากแพทย์ผู้รักษาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และจัดยากล่องและขวด ด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 150 ใบสั่งยาต่อชั่วโมง เชื่อมต่อกับระบบการตรวจสอบและพิมพ์ฉลากยาได้

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลยาคงเหลือในแต่ละชนิดของรายการ เพื่อใช้ในการตรวจสอบการบริหารยาคงเหลือทำให้สามารถบริหารจัดการยาและจัดยาส่งไปยังเภสัชกรผ่านระบบสายพานลำเลียงได้อย่างครบวงจร ลดภาระงานเภสัชกรเหลือเพียงตรวจเช็คยาและปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ช่วยเพิ่มศักยภาพของเภสัชกรที่กำลังขาดแคลนอยู่ได้ ทั้งนี้ปัจจุบันระบบดังกล่าวพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมจำหน่ายซึ่งจะมีราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้าที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานใกล้เคียงกันประมาณ 1 เท่า“

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  เดลินิวส์

 

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ