• Home »
  • ShowSlideAll »
  • ร่างกายมนุษย์ ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีเองได้ แพทย์กล่าวไว้
ร่างกายมนุษย์ ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีเองได้ แพทย์กล่าวไว้

ร่างกายมนุษย์ ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีเองได้ แพทย์กล่าวไว้

            เมื่อวันที่ 10 ก.ย.58 พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีมีผู้ป่วยฟ้องร้อง รพ.เอกชนแห่งหนึ่งทางภาคใต้ หลังแจ้งผลตรวจว่าพบเชื้อเอชไอวี (เอดส์) แต่ตอนหลังไม่พบเชื้อ ซึ่งทาง รพ.อ้างว่า “ร่างกายผู้ป่วยล้างเชื้อได้เอง” ว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวี มีอยู่ 2 วิธีคือ 1.การตรวจหาภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะมีหลายรุ่น แต่จะใช้เวลาหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ และ 2.การตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยตรงด้วยวิธีแนท (Nucleic Acid Amplification Testing : NAT)จะตรวจได้เร็วหลังรับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ประเภท จะมีแม่นยำอยู่แล้ว ทั้งนี้ในการตรวจเชื้อเอชไอวีนั้น หากครั้งแรกให้ผลเลือดเป็นบวก ก็จะต้องมีการตรวจซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้งด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จึงจะสามารถยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามในเรื่องของการผิดพลาดนั้นเป็นไปได้ เช่น การตรวจเลือด 3 ครั้งให้ผลยืนยันเป็นบวกทั้งหมด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกลับไม่พบว่าผู้ป่วยจริง ๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสจะเกิดขึ้นมีน้อย หนึ่งในหมื่นถึงแสนคน

         “ปัญหาแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้นาน ๆ ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ปัญหาไม่ได้มาจากชุดตรวจ แต่เป็นเรื่องของตัวคนเป็นหลัก เช่น เลือดของผู้ป่วยสลับกัน การอ่านค่าผิด หรือตรวจเพียง 1-2 ครั้ง พอให้ผลเลือดเป็นบวกแล้วก็แจ้งคนไข้เลย ไม่ได้มีการตรวจซ้ำก่อน”พญ.นิตยากล่าวและว่า สำหรับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจริง ๆ หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสเลย บางรายจะเริ่มมีอาการป่วยในระยะ 5-6 ปี โดยเฉลี่ย อาการที่พบคือมีผื่น มีตุ่มขึ้นตามตัว เชื้อราในช่องปาก งูสวัส อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยร้อยละ 5 ที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยร้อยละ 5-10 แสดงอาการแบบเต็มรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว

          ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำชัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง พญ.นิตยา กล่าวว่า สมัยก่อนเราไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในกรณีผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อเอชไอวีมาใหม่ ๆ ยังไม่ถึงเดือน แล้วให้รับประทานยาต้านไวรัสติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน พอมาตรวจเลือดซ้ำหลังจากนี้ก็พบเชื้อดังกล่าวลดลงมาก แทบไม่เจอ แต่พอให้หยุดรับประทานยาต้านไวรัส แล้วมาตรวจซ้ำอีกครั้ง ก็พบว่าเชื้อยังอยู่ในร่างกายเหมือนเดิม ดังนั้นข้อมูล ณ วันนี้จึงยังไม่พบว่าร่างกายคนเราสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง.“

 

อ้างอิงจากข่าว  

รพ.เอกชน แจ้งผลเลือดผิดว่าติดเอส์ ทำให้มีผู้ร้องเรียน

            เมื่อวันที่ 9 ก.ย.58 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนมายังเครือข่ายฯว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ไปตรวจเลือดของผู้ป่วยรายดังกล่าวผิด โดยพบว่ามีเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด แต่ต่อมาทราบในภายหลังว่าไม่ใช่ เมื่อทวงถามไปยังโรงพยาบาลแล้ว กลับได้รับคำตอบจากแพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าวว่า เป็นเพราะร่างกายของผู้ป่วย ล้างเชื้อเอชไอวีได้เอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย จึงเกิดการฟ้องร้องขึ้น อยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่

           นางปรียนันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกันผลแล็บ ซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน เพราะผลแล็บสำคัญมาก ส่งผลต่อทั้งชีวิตของคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเอชไอวีที่รักษาไม่หาย เมื่อคนไข้รู้ผล ย่อมเกิดความทุกข์และทรมานจิตใจ ไม่กล้าไปตรวจซ้ำที่อื่น เพราะอับอาย

         กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ก็ผิดพลาดได้ แต่กลับไม่รับผิดชอบ ทั้งที่เป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลโดยตรง ส่วนการวินิจฉัยเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลควรรับผิดชอบด้วย ดังนั้นจากการหารือเบื้องต้นกับทางผู้เสียหายก็ไม่ได้ร้องต่อแพทยสภา เนื่องจากคงไม่มีประโยชน์ “กรณีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยังต้องสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่รู้อีกกี่ปี จึงจะสิ้นสุด เฉพาะศาลชั้นต้นก็ 3 ปีกว่าแล้ว ถ้ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เชื่อว่ากรณีนี้จะจบลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี และความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับรพ.ก็คงไม่ไปจบลงที่การฟ้องร้องอย่างแน่นอน จึงอยากวิงวอนถึงรมว.สาธารณสุขได้นำร่างพ.ร.บ.เข้าครม.ในเร็ววันเพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้”นางปรียนันท์ กล่าว

          ด้านผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย กล่าวเพียงว่า ตนไปตรวจเลือดแล้วพบว่ามีเชื้อเอชไอวี และเข้าใจเช่นนี้มา 4 ปี ไม่กล้าไปตรวจซ้ำที่อื่น ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเลิกกับสามีซึ่งค่อนข้างเจ้าชู้ จึงเข้าใจว่าอาจติดเชื้อจากสามีหรือไม่ แต่พอช่วงหลังๆ สังเกตอาการตัวเองแล้ว ทำไมสุขภาพยังดีอยู่ จนมาตรวจกับแพทย์อีกคนที่โรงพยาบาลเดิม กลับพบว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี และได้รับคำตอบจากโรงพยาบาลว่าร่างกายตัวเองสามารถทำลายเชื้อเอชไอวี หากเป็นเช่นนั้นจริง ทั่วโลกคงมาเอาเลือดไปทำยาแล้ว ซึ่งรู้สึกว่าโรงพยาบาลปัดความรับผิดชอบมาก กรณีแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิอย่างมาก.“

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  เดลินิวส์, thaihealth

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ