• Home »
  • ShowSlideAll »
  • คนไทยป่วยทางจิตเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของประชากร
คนไทยป่วยทางจิตเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของประชากร

คนไทยป่วยทางจิตเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของประชากร

คนไทยป่วยทางจิต 1 ใน 5 ของประชากร

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์ชื่อดัง ในฐานะ ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคจิตในประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยทางจิตซึ่งวินิจฉัยตามระบบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีการประมาณการไว้ว่ามีสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากร หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้เฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็จะมีตัวเลขอยู่ประมาณนี้ ซึ่งอาการทางจิตนี้ มีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น โรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล ก็เข้าข่ายเป็นโรคอาการทางจิต
ความวิตกกังวลทำให้สุขภาพจิตมีความผิดปกติ

“โรคจิต คือ อาการเข้าขั้น หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน จะมีผู้ป่วยคิดเป็นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน จะมีคนป่วยเข้าขั้นโรคจิต 600,000 คน สำหรับผู้ป่วยโรคจิตที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาตัวในสถานพยาบาล หรือเข้าข่ายเป็นอันตรายต่อตัวเอง เช่น พยายามฆ่าตัวตาย เป็นอันตรายต่อคนในครอบครัว เช่น คิดทำร้ายบุคคลในครอบครัว และสุดท้ายคือเป็นอันตรายต่อสังคม เช่นมีแนวโน้มก่อความรุนแรงกับคนรอบข้างนั้น มีประมาณ 10,000 คน แต่ปริมาณของเตียงรักษาในโรงพยาบาล ณ ปัจจุบันมีเพียง 4,000 – 5,000 เตียงเท่านั้น ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อปริมาณคนไข้ที่มีอยู่”

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาคนกลุ่มที่มีความผิดปกติทางจิตพบว่า สถิติการก่อเหตุความรุนแรงไม่ได้มากกว่าประชากรทั่วไป แต่หากลงมือก่อเหตุมักจะเป็นคดีที่รุนแรง โหดร้าย และสะเทือนขวัญมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมากกว่าคดีอาชญากรรมทั่วไป
อาการหวาดระแวงคือกลัวคนรอบข้างจะทำร้าย
จิตแพทย์ชื่อดัง กล่าวต่อไปว่า การมี “อคติ” กับคำว่าโรคจิต ทำให้คนที่เกี่ยวข้องทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย มีความรู้สึกอับอายไม่อยากข้องเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ตัวคนไข้ไม่อยากรับการรักษา เมื่อญาติพี่น้องจะพาไปรักษาที่โรงพยาบาลโรคจิต คนไข้จะไม่อยากไป ต้องยื้อยุดฉุดกระชาก มีความยากลำบากที่จะพาไปรักษา สุดท้ายต้องรอให้มีอาการหนักมากๆ หรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน ถึงจะตัดสินใจได้เด็ดขาดว่าจะต้องไปรักษาตัว ผิดกับในต่างประเทศที่มีนโยบายที่คัดกรองโรคให้รวดเร็ว พอมีอาการผิดสังเกตก็จะรีบพามาทันที ไม่เหมือนคนไทยที่ต้องรอเป็นเรื่องเป็นราวก่อนจึงจะพามารักษา
ผู้ต้องหาที่ก่อคดีฆ่าเด็ก 5 ศพ มีประวัติการรักษาโรคจิต
3 ปัจจัยแรงกระตุ้นทำให้คนป่วยทางจิต

นอกจากนี้ หมอทวีศิลป์ ยังฉายภาพถึงปัจจัยของคนที่จะป่วยทางจิต จำแนกไว้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ตัวกระตุ้นทางกายภาพและชีวภาพ สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติซึ่งร่างกายสร้างขึ้นเอง หรือพวกที่ใช้สารเสพติดกระตุ้นสมองทำให้เกิดความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่วนมากจะส่งผลให้เกิดผลทางอารมณ์ มีอาการทั้งๆ ที่ไม่ได้มีสิ่งเร้าแต่กลไกในสมองทำงานผิดปกติเอง

2. ตัวกระตุ้นทางจิตใจ เช่น อกหัก รักคุด เสียใจ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากจิตใจของตัวเอง อยากทำร้ายตัวเอง ตัวอย่างเช่น อกหักแล้วฆ่าตัวตาย  สภาพจิตใจที่ย่ำแย่อาจทำให้กลายเป็นคนโรคจิตได้

3. ตัวกระตุ้นที่เกิดจากภาวะทางเศรษฐกิจสังคม คือ คนปกติที่เมื่อเจอผลกระทบจากเศรษฐกิจและสังคม เช่น หุ้นตก ตกงาน มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ก็เป็นอีกปัจจัย ทำให้กลายเป็นโรคจิตได้ ตัวอย่างเช่นตกงานเครียดเรื่องหนี้สินแล้วฆ่าคนในครอบครัวตัวเอง
สภาพเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคจิต

ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวอีกว่า ลักษณะของคนที่มีอาการทางจิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น คนเหล่านี้จะมีความคิดอะไรแปลกๆ เช่นคิดว่าตัวเองเป็นลูกของพระเจ้า เป็นคนที่ติดต่อกับวิญญาณได้ เราจะเห็นคนพวกนี้มักพูดคนเดียว เหมือนกำลังคุยกับใคร ซึ่งจริงๆ คือการตอบสนองต่อเสียงแว่วที่เกิดขึ้นในหัวสมอง หรือลักษณะของคนที่ไม่ดูแลสุขลักษณะของตัวเอง อย่างพวกที่คุ้ยของในถังขยะมากิน สภาพมอมแมมเสื้อผ้าสกปรก มีกลิ่นตัว ซึ่งไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร เวลาใครชวนคุยก็หัวเราะร่าเริง แล้วเรามักจะพบเห็นคนเหล่านี้ได้ในสังคมเมือง สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองได้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่คนเหล่านี้เราไม่ค่อยพบเห็นไปอยู่ในป่า และไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เจอ แต่เราสามารถพบเจอคนกลุ่มนี้ได้จากทั่วโลก ยกตัวอย่างที่นิวยอร์ก หรือชิคาโก ก็มีให้เห็น คนกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติทางความคิดนำมาก่อน แล้วก็เกิดความผิดปกติทางอารมณ์แล้วนำมาสู่ความผิดปกติทางพฤติกรรม
ยาบ้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สารเคมีในสมองมีความผิดปกติ
สำหรับกลุ่มที่เป็นอันตราย คุณหมอทวีศิลป์ อธิบายว่า ส่วนมากจะมีภาวะหวาดระแวง มีความคิด มีอารมณ์ ที่คิดในลักษณะหวาดกลัว คิดว่าจะมีคนมาทำร้ายหรือจะมาฆ่า ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นทางจิต ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ว่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรที่เป็นตัวกระตุ้น บางคนเห็นคนอื่นคุยกันอยู่ไกลๆ ก็คิดว่าจะต้องเข้าไปทำร้าย เพราะกำลังวางแผนจะฆ่าตน ทั้งๆ ที่คนอื่นก็ไม่ได้ยิน แต่กลุ่มคนที่เป็นภาวะหวาดระแวง พอเห็นปากขยับก็จะไปแปลความเอาเอง มีการเอาความคิดของตัวเองไปประกอบกับเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่ถูกต้อง หรือได้ยินคำบัญชาที่เกิดขึ้นในหัวของตัวเองให้ลงมือฆ่าคน

โรคจิตเภท เป็นโรคที่เป็นภาระของสังคมทั่วโลก สมัยก่อนเชื่อว่าเป็นความเสื่อมของสมองไม่สามารถรักษาได้ แต่ปัจจุบัน ยารักษาโรคสามารถรักษาให้หายได้จนเป็นปกติ แต่ก็ไม่ใช่ทุกราย มีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ส่วนวิธีการรักษาจะใช้ยาเป็นหลัก ที่สำคัญต้องรีบรักษา คนที่เป็นใหม่ๆ มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ และคนที่เป็นมานานสามารถรักษาให้อาการลดลง ส่วนคนที่เป็นเรื้อรังก็สามารถทำให้อาการไม่กำเริบได้ ส่วนผู้ที่รักษาไม่หาย เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่คอยกระตุ้น เมื่อให้ยาไปแล้วร่างกายก็ไม่ตอบสนอง เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่บางคนใช้ยารักษาแล้วหาย แต่บางคนก็รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกโรค

โรคจิตชนิดรุนแรงสามารถก่อเหตุได้โดยไม่ตั้งใจ
“ภาวะความรุนแรงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ลดน้อยลงได้ตลอดเวลาเช่นกัน เหมือนกับอารมณ์โมโหของคนที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งเร้า คนไข้พวกนี้เมื่อได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วก็กลับบ้านได้ แต่เมื่อกลับบ้านไปแล้วก็ใช่ว่าจะมีอารมณ์ปกติตลอดเวลา ปัจจัยพวกนี้อยู่ในความควบคุมได้และไม่ได้อีก ผู้ป่วยโรคจิตเมื่ออาการดีรักษาจนอาการดีข้ึนแล้วก็กลับมาอยู่ในสังคม แต่บางครั้งก็มีอาการกำเริบขึ้นมาอีก” หมอทวีศิลป์ กล่าว

หากพิสูจน์ได้ว่าเป็น “โรคจิต” จะรับโทษเบากว่าคนทั่วไป

สำหรับในมุมมองด้านกฎหมาย นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า ผู้ป่วยทางจิตที่ก่อคดีอาชญากรรมขึ้น ทนายความฝ่ายจำเลยจะยื่นเรื่องต่อศาล ว่าจำเลยมีความผิดปกติ อาจจะใช้ใบรับรองจากแพทย์หรือประวัติการรักษาจากโรงพยาบาล เพื่อขอให้ศาลพิจารณา เมื่อศาลพิจารณาแล้วว่าผู้ต้องหาอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ศาลจะมีการพักการพิจารณาคดีแล้วส่งตัวผู้ต้องหาไปรับการบำบัดรักษาก่อน หลังจากได้รับการรักษาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย หากพบว่ากระทำผิดจริงก็ย่อมถูกลงโทษ

เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวต่อว่า แม้จะมีความผิดตามกฎหมายแต่ก็มีข้อยกเว้น ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าในขณะกระทำความผิดนั้น มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขนาดไหน โดยจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำแนะนำและใช้ประวัติของคนไข้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคดีด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าในขณะก่อเหตุ จำเลยมีสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ ศาลก็จะตัดสินให้รับโทษ แต่จะเบากว่าบุคคลธรรมดา อาจจะได้รับโทษที่น้อยกว่าบุคคลทั่วไปหรือส่งไปบำบัดก็แล้วแต่ศาลจะพิจารณา แต่ส่วนมากจะเน้นให้ไปรักษาตัวมากกว่า

เหยื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ดูแลได้

แม้บทลงโทษสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตจะไม่รุนแรงเท่าบุคคลธรรมดา แต่เมื่อกระทำความผิด ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางละเมิดจากผู้ดูแลได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอก บุคคลผู้ดูแลจะต้องรับผิดชอบ

ความเครียดสะสมจะส่งผลต่อสุขภาพจิต
“บุคคลประเภทนี้ถือว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ฉะนั้นจะต้องมีผู้ดูแลตามกฎหมาย หากคนโรคจิตไปก่อเหตุรุนแรงหรือไปสร้างความเสียหายใดๆ ก็ตาม ต้องไปดูว่าบุคคลผู้นั้นอยู่ในความปกครองของใคร เช่น สมมติว่าผู้ป่วยโรคจิตรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยอยากจะกลับบ้าน แล้วมีคนไปรับรองว่าจะเอามาบำบัดดูแลเอง คนที่รับรองก็จะต้องรับใช้ในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฉะนั้นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบกับค่าเสียหายก็คือผู้ดูแล” นายนิวัติ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือมีบุคคลใกล้ชิดที่ต้องการคำปรึกษา สามารถโทรปรึกษาได้ที่เบอร์ 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถรับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตจากระบบอัตโนมัติได้ที่เบอร์ 1667 และหากใครอยากทราบระดับสภาวะสุขภาพจิตของตัวเอง สามารถทำได้ด้วยการตอบแบบทดสอบ “แบบวัดสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสมบูรณ์ 2550” ของกรมพัฒนาสุขภาพจิต ได้ที่ http://www.dmh.go.th/test/thaihapnew/

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  ไทยรัฐ

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ