ข้าวเน่า อันตรายจากสารเคมีตกค้าง

ข้าวเน่า สารเคมีตกค้าง

ข้าวเน่า สารเคมีตกค้าง

ดูเหมือนช่วงนี้ ข้าวสารจะร้อนตั้งแต่ยังไม่หุง…เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีกระแสข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่า ข้าวสารในสต๊อก ก่อนจะขายให้กับห้างร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ที่คอยจะซื้อไปบรรจุถุงขายแก่ประชาชนนั้น จะมีการรมยากันเชื้อราและมอดในระดับรุนแรง จนหนูที่แอบมากินข้าวสารดังกล่าว ทนสารตกค้างไม่ไหวถึงกับนอนตายตัวแห้งกรัง และหากใครกินข้าวสารเหล่านี้เข้าไปก็จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นป่วยโรคมะเร็ง!

กระแสข่าวลือข้างต้น คาดว่าส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยมิใช่น้อย ด้วยเหตุเพราะ คนไทยเรากินข้าวเป็นอาหารหลัก แถมกรณีนี้ยังส่งผลไปถึงการส่งออกข้าวไทย ซึ่งถือเป็นสินค้าเอ็กพอร์ตที่สำคัญ 

เช่น สำนักข่าวต่างประเทศตีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) สหรัฐฯ ได้แจ้งท่าเรือและผู้นำเข้าทุกรายทั่วสหรัฐฯ กักกันข้าวที่นำเข้าจากไทยทุกๆ ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อตรวจสอบคุณภาพให้ละเอียดก่อน เพราะปรากฏเป็นข่าวในไทยว่า ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลไทย มีการรมยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก จนอาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังมีมอด และเชื้อราอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ หน่วยงานแรกที่ออกมาให้ความกระจ่าง คือ กระทรวงพาณิชย์ มอบหน้าที่ชี้แจงให้ “นางปราณี ศิริพันธ์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันผ่านสื่อว่า ข้าวสารในสต็อกรัฐบาลมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคแน่นอน เพราะสารเคมีที่ใช้รมยา คือ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ ได้ผ่านมาตรฐานองค์การอาหารและยาโลก (เอฟเอโอ) และเป็นสารที่ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น มอด ตามสูตรที่กำหนดโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ ขั้นตอนหลังจากการรมยาก็จะต้องใช้เวลาอีก 5-7 วัน เพื่อรอให้สารเคมีระเหยออกไป จึงไม่เกิดสารตกค้างและสร้างอันตรายแก่ผู้บริโภค

จากนั้น กระทรวงสาธารณสุข ก็สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตัวอย่างข้าวบรรจุถุงสำเร็จที่วางขายในท้องตลาดจำนวน 57 ตัวอย่าง ไปตรวจสอบคุณภาพทั้งปัญหาความชื้น สารเคมีตกค้าง สารเคมีฆ่ามอด ความไม่สะอาด ซึ่งผลการสุ่มตรวจออกมาเมื่อ 28 มิถุนายนตามกำหนดที่วางไว้ โดยสรุปว่า…

“จากการเก็บตัวอย่างข้าวจากห้างค้าปลีก มีตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนตกค้างเลย โดยเฉพาะสารเมทิลโบรไมด์ และฟอสฟิน 28 ตัวอย่าง ทั้งนี้มีการตรวจพบตกค้าง 26 ตัวอย่าง แต่เป็นการตกค้างในเกณฑ์ที่รับได้ เพราะเป็นการตกค้างที่เกิดการปนเปื้อนตามธรรมชาติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดของทางองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) จึงไม่น่ามีปัญหาทั้งในการส่งออกและบริโภคของประชาชน ส่วนการตรวจหาเชื้อราและยาฆ่าแมลงอื่นๆ ไม่พบ” นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาฯ อย. กล่าว

สำหรับ แผนการด้านสาธารณสุข จากเดิมทางที่อย.จะเก็บตัวอย่างข้าวจากห้างค้าปลีก แต่หลังจากนี้จะเก็บตัวอย่างข้าวจากโรงบรรจุถุงเพิ่มเติม หวังกระตุ้นผู้ประกอบการให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคให้มากขึ้น ขณะที่ ข่าวสารในต่างประเทศซึ่งระบุ สหรัฐฯ กักข้าวไทยนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมายืนยันว่า ไม่เป็นความจริง

แม้การตรวจสอบและการันตีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้คนไทยใจชื้นไปได้เปราะหนึ่ง แต่เพื่อความไม่ประมาท เนื่องจากการสุ่มตรวจข้าวสารนั้น คือการตรวจตราข้าวสารเพียงบางส่วน ดังนั้น หากมีผู้ประกอบการลอบนำสารเคมีที่ไม่เหมาะสม โอกาสที่ข้าวสารในท้องตลาดจะมีสารเคมีตกค้าง ก็อาจเกิดขึ้นได้

จากการสอบถามไปยังคอลัมนิสต์ประจำเดลินิวส์ออนไลน์ นามปากกา “PrincessFangy” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ชี้ว่า ข้าวเป็นพืชที่ใช้สารเคมีไม่มากมายเท่าผัก การจะสังเกตด้วยตาหรือชิมรสชาติ เพื่อหาว่าข้าวมีสารเคมีตกค้างหรือไม่นั้น ไม่สามารถทำได้ ต้องส่งตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับข้าว คือข้าวเสื่อมสภาพเพราะความชื้นจนขึ้นรา จึงมีข้อกฎหมายทั้งในและต่างประเทศกำหนดว่า ความชื้นต้องไม่เกิน 14% หากเกินจากนี้เชื้อราจะเติบโตได้

กรณีนี้ยังไม่หุง จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน โดยเม็ดข้าวสารจะเป็นขุยสีดำๆ เขียวๆ หรืออาจจะมีสีส้ม บ้างยังทำให้ข้าวสารจับตัวกันเป็นก้อน ถ้านำไปหุงกินอาจทำให้ได้รับสารอะฟลาทอกซิน สารนี้หากสะสมอยู่ในร่างกายมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงป่วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็ง

ดังนั้น เมื่อจะซื้อข้าวสารมาหุงกินเอง ควรเลือกข้าวสารที่แห้ง สัมผัสแล้วไม่ชื้น หากยังไม่มั่นใจอาจต้องเลือกข้าวสารที่มีระบบประกันความปลอดภัยของอาหาร เช่น GMP/HACCP เพราะข้าวกลุ่มนี้จะถูกตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย ส่วนการกินข้าวที่หุงสุกแล้ว ถ้าได้กลิ่นรสผิดแปลกไปจากเดิมก็ไม่แนะนำให้กิน

 

Credit:  Dailynews

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ