เจาะลึก!เขตศก.พิเศษแม่สอด

เจาะลึก!เขตศก.พิเศษแม่สอด

เจาะลึกเขตศก.พิเศษแม่สอด (1) ฝันของรัฐบาลกับการบ้านในพื้นที่

       ภายหลัง​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรี​และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ​ ที่​ 1/2558​ โดยกำหนดให้​ 8 ตำบลใน อ.แม่สอด​ จ.ตาก ประกอบด้วย​ ต.ท่าสายลวด​ พระธาตุผาแดง​ แม่กาษา​ แม่กุ แม่ตาว​ แม่ปะ แม่สอด​ และ ต.มหาวัน​  3 ตำบลใน อ.​พบพระ​ ประกอบด้วย​ ต.ช่องแคบ​ พบพระ​ และ ต.วาเล่ย์​

        3 ตำบล​ใน อ.​แม่ระมาด​ ประกอบด้วย​ ต.ขะเนจื้อ แม่จะเรา​ และ ต.แม่ระมาด​ จัดตั้งเป็นพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ​” พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่​ 19 ม.ค.58 ที่ผ่านมา

        จากนั้นถัดมาอีกหนึ่งวัน​ ก็มีการบรรจุเรื่อง​ “การสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister​ City) ระหว่างแม่สอดและเมียวดี”​ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ เพื่อผลักดันการค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์​ ในเขตพัฒนาเศร​ษฐกิจ​พิเศษแม่สอด​ จ.ตากนั้น

        ความเคลื่อนไหว​จากรัฐบาล​ในครั้งนี้​ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของภาคส่วนต่างๆ​ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่​ที่ร่วมกันผลักดันให้​เกิด “เขตเศรษฐกิจพิเศษ​” มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเทศบาล​นครแม่สอด​ องค์กรปกครอง​ส่วนท้องถิ่นที่อดทน​ เพียร​พยายามมาอย่างยาวนาน​​ในการแสวงหาความร่วมมือเพื่อเป้าหมายอันเป็นประโยชน์มหาศาลให้กับประชาชนในพื้นที่​ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย

        หากนับเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา​ คณะทำงานต่างๆ​ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ​ (สนช.) หลายคณะ ได้ทยอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเดินทางลงพื้นที่​ อ.แม่สอด​ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาที่แท้จริง ไม่ว่า​จะเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ​การปกครองส่วนท้องถิ่น​, คณะอนุ กมธ.จัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง​ ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ​ กระทรวงมหาดไทย ในสนช.

         ทั้งยังมีคณะทำงานของ นายวิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ ที่จะเดินทางไปแม่สอดในช่วงสุดสัปดาห์นี้ด้วย

        สาเหตุที่หลายองค์กรลงไปมะรุมมะตุ้มในพื้นที่จริง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด แม้จะผลักดันมาหลายรัฐบาล แต่ก็หยุดนิ่งมานับสิบปีแล้ว ทุกรัฐบาลล้วนมีนโยบายที่จะผลักดันให้​เขตเศรษฐกิจพิเศษ​เกิดขึ้นให้ได้ แต่ความจริงในพื้นที่กลับสวนทาง ทุกอย่างเกือบจะนิ่งสนิท

       กระทั่งถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษ ทำให้ทุกภาคส่วนจับจ้องว่าจะขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เดินหน้าได้จริงหรือไม่

       นายเทอดเกียรติ​ ชินสรนันท์​ นายกเทศมนตรีนคร​แม่สอด​ กล่าวพลางหยิบประกาศการกำหนดเขตเศรษฐกิจ​พิเศษ​ที่นายกฯลงนามเมื่อ​19 ม.ค.58 มาวางบนโต๊ะ และบอกว่ากระดาษแผ่นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ​ อ.แม่สอด​ ที่มีภูมิรัฐศาสตร์เชื่อมโยงประชาชนกว่า​ 1,200 ล้านคน​ พาดผ่านเอเชียกลางไปสู่ยุโรป

       อย่างไรก็ดี ยังมีการบ้านระดับพื้นที่อีกมากที่ต้องใช้อำนาจทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ช่วยกันสะสาง เริ่มจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาตั้งท่าเรือฝั่งเมียนมา​ร์ แล้วลักลอบค้าขาย​สินค้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาร์ต้องห้าม​​ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

        แม้ นายกิตติ​ สุทธิสัมพันธ์​ นายด่านศุลกากรแม่สอด​ จะให้​ข้อมูลว่า​มูลค่าการค้าตามท่าเรือ​ซึ่งมีประมาณ​ 5 หมื่นล้านบาท​ต่อปี (และรั่วไหลไม่น้อยจากการลักลอบ) จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่​ 2​ สร้างเสร็จ และจะช่วยลดทุนต้นทุนค่าขนส่ง​ เกิดความสะดวก​คล่องตัวของการค้าขาย​มากขึ้น ทว่าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 กลับมีความคืบหน้าน้อยมาก และติดปัญหาอุปสรรคมากมาย

       โดยเฉพาะการเข้าใช้ที่ดินสำหรับการก่อสร้างถนนและสะพาน ที่ต้อง​หยุดชะงัก​มาหลายปี โครงการก่อสร้างสะดุดแค่ขั้นตอนการออกแบบที่มีวีดิโอพรีเซนต์หน้าตาของสะพานมานานเกือบ​ 10 ปี​ ขณะที่​สถานที่ก่อสร้างจริงของทั้ง​ 2 ฝั่งแม่น้ำเมย​ยังเป็นเพียงแปลงข้าวโพดที่มีแรงงานพม่าคอยรดน้ำพรวนดิน​ ไร้สัญลักษณ์ความคืบหน้าของโครงการ​

        นอกจากนั้นยังมีที่ดินอีก​ 300 ไร่ที่ “ท่าอากาศยานแม่สอด” ต้องการมาเติมเต็มรันเวย์ให้รองรับการขยายตัว​ของเมืองและเศรษฐกิจ เพียงพอที่สายการบินต่างๆ​ สามารถนำเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่มาลงจอดได้ อันจะเป็นการเปิดเส้นทางทั้งการค้าและการท่องเที่ยว แต่ที่ดินโดยรอบก็ถูกชาวบ้านที่เชื่อกันว่ามีนายทุนหนุนหลังเข้าจับจอง และยังติดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์มากมาย

        แม้ นายเทอดเกียรติ จะแย้มพรายถึงไม้ตายสุดท้าย​ในการจัดการกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ด้วย​การใช้กฎหมายพิเศษในการ”เวนคืนที่ดิน​” แต่นั่นก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป​​ว่า​ กลุ่มทุนเหล่านี้จะพลิกแพลงอะไรกันต่อไป เพราะที่ผ่านมาพวกเขาดูจะรับรู้นโยบายและทิศทางของรัฐเป็นอย่างดี​

        และหาก​สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์กลาง​พิธีการทางศุลกากรในการขนส่งสินค้าข้ามแดนกลายเป็นสิ่งไม่มีตัวตน​เสียแล้ว คำประกาศเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษก็คงเป็นเพียงแผ่นกระดาษเท่านั้น!

Credit by กรุงเทพธุรกิจ

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ