• Home »
  • ข่าวแม่สอด »
  • สธ.ตาก จัดโครงการพัฒนา บริการคนต่างด้าว พื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาร์

สธ.ตาก จัดโครงการพัฒนา บริการคนต่างด้าว พื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาร์

สธ.ตาก-แม่สอด

สธ.ตาก-แม่สอด

สธ.ตาก จัดโครงการพัฒนา บริการคนต่างด้าว พื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาร์

เมื่อวันที่ 16  กันยายน 2556 ที่โรงแรมเซ็นทาราแม่สอดฮิลล์รีสอร์ท อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 2 ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลพุทธชินราช ได้จัดทำโครงการพัฒนาบริการคนต่างด้าวพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 2 ประจำปี 2556 เพื่อเปิดความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศไทย และประเทศเมียนมาร์ ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชาชนทั้งสองฝั่งให้ดีขึ้น ในระหว่างวันที่ 16 – 18 กันยายน 2556 ผู้เข้าร่วมประชุมตัวแทนผู้รับผิดชอบงานสาธารณสุขทั้ง 2 ประเทศ ประเทศสหภาพเมียนมาร์นำโดย Dr.วินหน่าย หัวหน้าสาธารณสุขรัฐกระเหรี่ยง ประเทศไทยนำโดยนายแพทย์อำนวย กาจีนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 2 โดยมีนายสุวัฒน์ พรหมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นผู้กล่าวต้อนรับ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพม่าร่วมประชุมกับแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทย รวมกว่าจำนวน 100 คน

 

นายแพทย์อำนวย กาจีนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนเชื่อมโยงกับปัจจัยหลายด้าน เนื่องจากบริเวณชายแดนมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี โรคที่พบบ่อยคือ โรคมาลาเรีย วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ โรคอุจจาระร่วง ปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก อัตราตายของแม่และเด็กยังสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งโรงพยาบาลของรัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนตามแนวชายแดน นิยมเข้ามารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของไทยปีละนับหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน

 

นายแพทย์อำนวย กาจีนะ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวชายแดน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.สนับสนุนการเข้าถึงและการพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อและการรักษาพยาบาล 2.การสร้างความเข้มแข็งและพัฒนางานสาธารณสุขชุมชนโดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม 3.การพัฒนาสุขภาพประชากรต่างด้าวและการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยให้ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ 4.สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ในการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานชุมชนชายแดน เช่น การสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวเพื่อดูแลสุขภาพต่างด้าวด้วยกัน และ ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้ประชาชนพื้นที่ชายแดนมีระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ตั้งเป้าให้ประชากรเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง และมีระบบเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ

Credit : ประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลแม่สอด 

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ