UPSขัดข้อง!ต้นเหตุเรดาร์ดับ

จอเรดาร์

จอเรดาร์

UPS  ขัดข้อง!ต้นเหตุเรดาร์ดับ

วิทยุการบินฯ แจงระบบประมวลเรดาร์ดับ สาเหตุมาจากระบบจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องอัตโนมัติ หรือ UPS เกิดขัดข้อง ชี้เร่งดำเนินการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน และสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 22 มิ.ย. 55 ที่ห้องประชุมบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม พร้อมด้วย น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด นายสมชัย สวัสดีผล ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจงถึงเหตุระบบไฟฟ้าขัดข้อง ส่งผลให้เรดาห์ดับจนกระทบต่อการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงค่ำวานนี้

น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากเหตุขัดข้องดังกล่าว พบสาเหตุมาจากระบบจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องอัตโนมัติ หรือ ups เกิดขัดข้อง เพราะระบบเก็บประจุไฟฟ้าภายในเกิดการช๊อต ทั้งที่ยังไม่หมดอายุการใช้งาน ทำให้ไฟฟ้ากำลังที่จ่ายให้ระบบการให้บริการเดินอากาศขาดหายไป ประมาณ 30 นาที ประกอบกับระบบเรดาห์สำรองที่เตรียมไว้ ก็ใช้ระบบจ่ายไฟ ups เดียวกันจึงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ทางบ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จึงเร่งดำเนินการตามแผนฉุกเฉินที่เคยซ้อมไว้ทันที โดยใช้วิธี non-radarและใช้วิทยุสื่อสารในการควบคุมจราจรทางอากาศแทนแต่ทำให้ขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินลดลง มีผลกระทบทำให้เครื่องบินล่าช้า จำนวนทั้งสิ้น 50 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินที่ต้องเปลี่ยนไปลงสนามสนามบินสำรองอื่นๆจำนวน 13 ลำโดยต้องบินไปลงสนามบินอู่ตะเภา 6 ลำ สนามบินเชียงใหม่ 2 ลำ สนามบินภูเก็ต 2ลำ สนามบินกัวลาลัมเปอร์ 2 ลำ และสนามบินเสียมเรียบ 1 ลำ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินที่ต้องรอ บนภาคพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 21 ลำ โดยลำที่รอนานที่สุด 105นาที คือเที่ยวบิน tg 140 สุวรรณภูมิ-เชียงราย ส่วนเครื่องบินที่รออยู่ในอากาศอีกจำนวน 15 ลำ โดยใช้เวลาบินวนรอนานที่สุดบนอากาศ 71 นาที คือสายการบิน กาตาร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน 617 โฮจิมินทร์-กรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาดังกล่าวทาง บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เร่งดำเนินการหาสาเหตุและสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลา ครึ่งชั่วโมง

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคมเปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีกว่า ทาง บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้มีแผนดำเนินการแยกระบบจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องอัตโนมัติ หรือ ups และระบบการให้บริการเดินอากาศ หรือเรดาห์ ระหว่างชุดที่ใช้งานจริงซึ่งอยู่ที่ชั้น 4 ของตึกวิทยุการบินแห่งประเทศไทย กับชั้น 6 นั้นแยกออกจากกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยแผนการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2555 ส่วนอุปกรณ์ที่มีปัญหาขณะนั้นได้ทำการเปลี่ยนใหม่หมดทั้งระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทางด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นพบว่าความปลอดภัยของการจราจรทางอากาศยังคงมีสูง แต่เพียงเกิดความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทางกระทรวงคมนาคม จึงต้องขออภัยมายังประชาชนและผู้โดยสารที่ใช้บริการ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย แต่จากนี้เพื่อความมั่นใจและความโปร่งใสในการทำงาน ตนได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงกรณีดังกล่าวขึ้นโดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะชุด เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงของเหตุขัดข้องว่าเป็นในเรื่องของอุปกรณ์หรือบุคคล โดยให้เวลาในการตรวจสอบ 15 วัน และขอทางวิทยุการบินแห่งประเทศไทย รวมถึงการท่าอากาศยานสุวรรณจัดทำคู่มือถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินต่อไปในอนาคต

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ