แม่ค้าจ่ายค่างวดช้า 2 วัน ถูก ธอส.ยึดบ้าน

จ่ายค่างวดช้า 2 วัน ถูกยึดบ้าน

จ่ายค่างวดช้า 2 วัน ถูกยึดบ้าน

แม่ค้าส้มตำร้อง ถูก ธอส. ยึดบ้านขายทอดตลาดไม่รู้ตัว หลังจ่ายค่างวดช้า 2 วัน ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นจาก 4.5% เป็น 13.5%  ดอกเบี้ยจึงสะสมกลายเป็นหลักแสน ด้าน ธอส. ระบุ ตามตัวเจ้าของบ้านไม่ได้ 

วานนี้ (7 พฤษภาคม) รายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 ได้นำเสนอข่าวของแม่ค้าส้มตำรายหนึ่ง ที่ถูกธนาคารอาคารสงเคราะห์ยึดบ้านโดยไม่รู้ตัว แถมบ้านยังถูกขายทอดตลาดจนมีคนมาติดต่อซื้อ ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวผ่อนติดต่อกันทุกงวดมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม

โดยแม่ค้าส้มตำรายนี้ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานโรงงาน และกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยเริ่มผ่อนตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2556 อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ปี เต็ม งวดละ 5,600 บาท แต่ตนไม่ได้อาศัยอยู่เอง ปล่อยให้คนเช่า และสุดท้ายก็เพิ่งมาทราบว่า บ้านของตนถูกธนาคารขายทอดตลาดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากแม่ค้าส่งค่างวดเลยสิ้นเดือนไป 2 วัน โดยปกติแล้วหากทำสัญญากู้วันไหน ก็จะนับว่าวันนั้นเป็นวันที่จะต้องจ่ายค่างวด และสามารถเลื่อนจ่ายได้ไม่เกินสิ้นเดือนนั้น ซึ่งแม่ค้าส้มตำรายนี้ มีกำหนดจ่ายค่างวดในวันที่ 23 ตุลาคม เพราะฉะนั้นจะมีกำหนดจ่ายไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม แต่ในงวดดังกล่าว แม่ค้าจ่ายในวันที่ 2 พฤศจิกายน

จากนั้น ทางตามระบบธนาคารจึงถือว่า แม่ค้าผิดสัญญา ส่งผลให้ดอกเบี้ยคิดเพิ่มเป็นเดือนใหม่ เท่ากับว่า แม่ค้าเริ่มไม่ได้จ่ายเงินต้น จนถูกปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 4.5% เป็น 13.5% โดยไม่รู้ตัว สุดท้ายค่างวดที่แม่ค้าส่งทุกเดือนกลับไม่พอดอกเบี้ย และไม่ลดเงินต้น ดอกเบี้ยสะสมหลักแสน ทำให้ธนาคารต้องยึดฟ้องบ้านไปขายทอดตลาดโดยที่แม่ค้าไม่รู้ เนื่องจากธนาคารติดต่อแม่ค้าไม่ได้ ส่วนด้านแม่ค้าก็ไม่ทราบเรื่องและยังคงผ่อนชำระค่าบ้านอย่างต่อเนื่อง

ส่วนทางด้านผู้เช่า กลับไม่บอกแม่ค้าเจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจดหมายจากธนาคาร และหมายจากศาล สุดท้ายรู้อีกทีแม่ค้าก็กลายเป็นคนไม่มีบ้าน เพราะบ้านขายทอดตลาดและมีคนซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมแม่ค้ายังเป็นหนี้ธนาคาร และติดบัญชีดำสถาบันการเงินอีกด้วย

       ขณะที่  ธอส. ก็ระบุว่า จริง ๆ แล้วก็เอะใจที่บ้านหลังนี้เจ้าของคนเดิมยังส่งต่อทุกงวด ในวงเงินเท่าเดิม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพยายามติดต่อเจ้าของบ้านไม่ได้ ส่วนที่ถามว่าทำไมไม่ติดต่อไปยังโรงงานที่เจ้าตัวเคยทำ ในส่วนของธนาคารก็๋ไม่กล้าบอกรายละเอียด เพราะกลัวจะเป็นการประจานในเรื่องที่เขาเป็นหนี้ สำหรับบัตรประชาชนที่ระบุที่อยู่ว่าอยู่ จ.ขอนแก่นนั้น ทำไมถึงไม่ติดต่อไป ก็อยากจะให้มองในมุมมองของธนาคาร ในเรื่องของเจตจำนงค์ของลูกค้า เพราะเคยเกิดปัญหาลูกแอบไปซื้อบ้าน สามีแอบไปซื้อบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาส่วนบุคคล ธนาคารไม่ขอยุ่งเกี่ยว

 แต่สาเหตุที่ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต จนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ คือเรื่อง “โนติส”(หนังสือทวงถามล่วงหน้าให้ลูกหนี้แห่งสิทธิปฏิบัติตามสิทธิ ที่กฎหมายหมายรับรองคุ้มครองให้ โดยในโนตีสจะกำหนดระยะเวลาไว้ให้ปฏิบัติตามแน่นอน อาจจะเป็น 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน เป็นต้น) ซึ่งมีคนเซ็นต์รับใช้ชื่อว่า “นิคม” ระบุว่าเป็นเพื่อน ทั้งนี้ หากไม่มีการเซ็นต์รับ เรื่องราวก็จะไม่บานปลายอย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตาม ผู้เช่าบ้านรายปัจจุบัน ชื่อ นายสำราญ เล่าว่า ตนมาเช่าบ้านเมื่อช่วงกันยายน ปี 2554 แต่โนติสส่งมาก่อนหน้าที่ตนจะเช่า จึงเป็นไปไม่ได้ว่า ตนจะเป็นคนเซ็นต์รับ และก่อนหน้านี้ ตอนแรกตนก็ส่งค่าเช่าให้แม่ค้าส้มตำ แต่พอมีคนมาดูบ้าน และบอกว่าเป็นเจ้าของบ้านคนใหม่ ตนจึงหยุดส่งเงินให้เจ้าของเดิม และส่งให้คนใหม่แทน พร้อมกับยอมรับว่า จดหมายทุกฉบับที่ส่งมาถึงเจ้าของบ้าน ตนไม่เคยเปิดอ่าน เพราะไม่ใช่ของตน แต่ทั้งนี้ ก็มีเอกสารจาก ธอส. ระบุให้เจ้าของบ้านติดต่อกลับ แต่ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตน บวกกับช่วงนั้นตนเพิ่งเลิกกับภรรยา จึงลืมที่จะโทรไปบอกเจ้าของบ้าน

สำหรับลายเซ็นต์นิคมนั้น แม่ค้าส้มตำระบุว่า ไม่ใช่คนเช่าบ้านคนก่อนอย่างแน่นอน และเพื่อนบ้านในละแวกนี้ก็ไม่มีใครชื่อนิคมด้วย ส่วน SMS ที่ส่งมาบอกว่า “หน้าด้าน รู้แล้วว่าเจ้าของบ้านตัวจริงคือใคร” เมื่อถามนายสำราญ ระบุว่า อาจจะเป็นภรรยาเก่าที่เห็นข้อความที่แม่ค้าส้มตำส่งไปทวงเงิน เลยตอบกลับไปช่วงที่ตนให้มาช่วยเลี้ยงลูกก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงมีข้อกังขาอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นส่วนของธนาคารที่จ่ายค่างวดเลยไป 2 วัน ไม่มีการผ่อนผัน หรือชี้แจงกับลูกหนี้ ปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที หรือว่าจะเป็นในส่วนของผู้เช่า ที่ไม่แจ้งจดหมายแก่เจ้าของบ้าน… ซึ่งในเรื่องนี้ นับว่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านเลยทีเดียว

Credit:  Kapook.com

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ