“แบงก์20เก๊” ระบาดโปรดระวัง!

แบงก์จริงบน-ปลอมล่าง ไม่มีลายน้ำ

แบงก์จริงบน-ปลอมล่าง ไม่มีลายน้ำ

มีข่าวไปพักใหญ่แล้วกับกรณีข่าวปลอมแปลงธนบัตรที่ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ก็ใช่ว่าจะหายไปจากสังคมไทย เมื่อกระแสแบงก์ปลอมระลอกใหม่กำลังโถมกระหน่ำใส่พ่อค้าแม่ค้าในย่านตลาดสด คนขับแท็กซี่ หรือแม้แต่เด็กปั๊มที่ถูกต้มตุ๋นกันเป็นว่าเล่น ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ธนบัตรราคาสูง ๆ เริ่มไม่ค่อยมีให้เห็น แต่กลับพบแบงก์ 500 แบงก์ 100 หรือแม้แต่แบงก์ 20 ปลอมออกมาแทนมากขึ้น

“แบงก์เก๊” ระบาดไม่เลิก

ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่มันมีมานานแล้ว หากนึกย้อนกลับไปในอดีต ธนบัตรที่นิยมปลอมแปลงกันมักจะเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท และมักจะทำขึ้นด้วยฝีมือของกลุ่มคนที่มีความชำนาญ และใช้เทคโนโลยีทันสมัยก้าวหน้ามาก แต่ในช่วงหลังๆ ธนบัตรราคาสูง ๆ อย่างแบงก์ 1,000 กลับไม่ค่อยระบาดเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะคนไทยมีวิธีสังเกตธนบัตรปลอมกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะหมดไป ปัจจุบันมีการปลอมแปลงได้เหมือนจริงมาก แถมยังทำออกมาอย่างมีคุณภาพ และยากที่จะตรวจตราแยกแยะได้อีกด้วย

เห็นได้จาก กรณีแบงก์ปลอมที่ทำขึ้นมาจากแบงก์จริง โดยก่อนหน้านี้เคยมีผู้รู้ออกมาแฉจนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่ ซึ่งเป็นการตัดต่อกันระหว่างแบงก์ 1,000 จริงๆ กับแบงก์ 20 ที่ถูกฟอกและพิมพ์ใหม่ให้เป็นแบงก์ 1,000 โดยจะเอาแค่แถบฟอยล์สีรุ้งของแบงก์ 1,000 มาเท่านั้น นอกนั้นเป็นแบงก์ 20 หมด

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องใช้ความชำนาญที่สูงมาก ส่วนใหญ่แก๊งมิจฉาชีพจะทำขึ้นเองจากเครื่องพรินเตอร์ หรือวิธีถ่ายเอกสารสีมากกว่า

แบงก์ใหญ่หลบไป แบงก์เล็กมาแล้ว

ไม่ได้โหมกระแสให้ตื่นกลัว แต่เมื่อลงไปสอบถามพ่อค้าแม่ค้าตามย่านต่าง ๆ พบว่า แบงก์เล็ก ๆ อย่าง แบงก์ 500 แบงก์ 100 หรือแม้แต่แบงก์ 20 ถูกแก๊งมิจฉาชีพปลอมแปลง และตระเวนซื้อสินค้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านตลาดสดตามต่างจังหวัด หรือสถานที่ที่คนซื้อขายกันพลุกพล่าน โดยส่วนใหญ่ผู้ตกเป็นเหยื่อจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้ตรวจสอบเงินที่รับมาให้ดีเสียก่อน

ยกกรณีอุทธาหรณ์จากข่าวผู้ประกอบการร้านค้ารายหนึ่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ถูกกลุ่มมิจฉาชีพนำเงินธนบัตรแบงก์ 20 ปลอมมาหลอกซื้อสินค้าตามร้านค้า แต่ไม่ทันได้ตรวจสอบก่อน มาทราบอีกทีถึงรู้ว่าเป็นแบงก์ปลอม เนื่องจากมีตำหนิชัดเจน กระดาษ สีซีด อ่อนกว่าของจริง มีหมายเลขเดียวทุกฉบับ

เช่นเดียวกับแม่ค้าขายไข่ในตลาดสดย่านอ.บางปลา จ.สมุทรปราการ เหยื่อแบงก์ปลอมอีกหนึ่งราย เล่าว่า วันหนึ่งหลังจากขายของเสร็จดันเผลอหยิบเงินขึ้นมานับขณะที่มือเปียก ปรากฎว่า แบงก์ยุ่ย และสีหลุดลอกออกมา จึงนำไปเปรียบเทียบกับแม่ค้าแผงข้าง ๆ จึงรู้ว่าเป็นแบงก์ปลอม เนื่องจากมีลักษณะเล็กกว่าธนบัตรจริง และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ไม่มีลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

“มีเยอะ หายไปแล้วก็กลับมาอีก โดนกันเป็นแถบ ๆ เลย ส่วนใหญ่จะเป็นแบงก์ 20 และแบงก์ 100 ซึ่งปกติเวลารับเงินจะไม่ค่อยได้ดู เพราะลูกค้าเยอะด้วย ฝากให้รอบคอบกันด้วยค่ะ เพราะการจะไปติดตามผู้ที่ให้แบงก์ปลอมมาคงเป็นเรื่องยาก ทางที่ดีเช็กสักนิดก่อนจะตกเป็นเหยื่อ” แม่ค้ารายนี้ฝากผ่านทีมข่าว Live

อย่างไรก็ดี จากการสืบทราบยังพบด้วยว่า แก๊งมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีนำธนบัตรปลอมซื้อสิ่งของในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือในช่วงที่คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ

คนขับแท็กซี่ ผู้โดยสาร เด็กปั๊มก็ไม่รอด

ไม่เพียงแต่พ่อค้าแม่ค้าทั้งในตลาดสด และร้านโชห่วยเท่านั้น ปัจจุบันยังมีข้อมูลพบด้วยว่า คนขับแท็กซี่ ผู้โดยสาร รวมไปถึงเด็กปั๊มก็ถูกต้มตุ๋นไปตาม ๆ กัน ซึ่งมีทั้งธนบัตรราคา 20, 50, 100 และ 1,000 บาท ส่วนใหญ่จะถูกแก๊งมิจฉาชีพนำมาแพร่ด้วยการจ่าย-ทอนโดยเน้นช่วงกลางคืนเพื่อตบตาเหยื่อ

เรื่องนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยเปิดเผยถึงข้อมูลสถิติการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาแบงก์ปลอมที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ กับผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสาร ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 52 – 31 ม.ค. 53 พบว่า มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อได้รับธนบัตรปลอม หรือแบงก์ปลอม เป็นค่าโดยสารหรือเงินทอน โทรศัพท์เข้ามายังหมายเลข 1644 “โทร.ฟรี” 0-2562-0033-4 และ 0-2941-0847-50 ของทางสถานีจำนวนทั้งสิ้น 57 ราย แยกเป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนจำนวน 50 คน กลุ่มผู้ให้บริการสถานีบริการเชื้อเพลิง 4 ราย และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ หรือผู้โดยสาร 3 คน

จากข้อมูล สถิติ และการร้องเรียนทั้งหมด ยังพบต่อว่า ผู้เสียหายที่ได้รับธนบัตรปลอม ทั้ง 57 รายนี้ ต่างก็ระบุช่วงเวลาที่ให้และใช้บริการรถแท็กซี่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพที่นำธนบัตรปลอมออกมาใช้จ่ายนั้น อาศัยความมืดและความไม่ค่อยสังเกตของเหยื่อแลกเปลี่ยนเอาธนบัตรจริงกลับไป โดยธนบัตรปลอมที่ระบาดมีทั้งธนบัตรฉบับละ 20 บาท 50 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ในส่วนของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับธนบัตรปลอมเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากที่สุด

แบงก์ปลอม ไม่ปลอมดูอย่างไร?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจของการป้องกันธนบัตรปลอมที่ให้ผลดีที่สุดก็คือ ความสนใจและหมั่นสังเกตธนบัตรของตัวเองทั้งขณะรับและจ่ายเงินทุกครั้ง โดยเฉพาะธนบัตรฉบับเล็ก ๆ ที่ไม่ควรชะล่าใจเหมือนกัน สอดรับกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ www.bot.or.th ถึงวิธีการสังเกตธนบัตรปลอมที่ครอบคลุมถึงธนบัตรใบละ 1,000 500 100 และ 20 บาท ซึ่งสามารถสังเกตจดจำได้ดี และแยกแยะความแตกต่าง ด้วยวิธีสังเกตง่าย ๆ 3 วิธี ได้แก่ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง

การสัมผัส

ลูบตรงคำว่า รัฐบาลไทยและตัวเลขที่แสดงราคาธนบัตรชนิดนั้นๆ ซึ่งพิมพ์เป็นตัวนูน เมื่อใช้ปลายนิ้วมือลูบสัมผัสบริเวณดังกล่าว จะรู้สึกถึงการนูนของหมึกพิมพ์มากกว่าบริเวณอื่น

ยกส่อง

เมื่อยกธนบัตรรัฐบาลขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง จะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่ใช่ภาพแบนราบเหมือนธนบัตรปลอมที่เลียนแบบด้วยการพิมพ์ภาพลงบนผิวกระดาษ นอกจากลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วยังมี ลายน้ำรูปลายไทยที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษประดับควบคู่ไว้อีกด้วย

นอกจากนั้น ตัวเลขแจ้งชนิดราคาธนบัตร จะพิมพ์แยกไว้ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง จะซ้อนทับกันเป็นตัวเลขที่สมบูรณ์

พลิกเอียง

ที่ตัวเลขแจ้งราคามุมขวาบนของธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท พิมพ์ด้วยหมึกชนิดพิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาสีของตัวเลข 500 จะเปลี่ยนสลับจากสีเขียวเป็นสีม่วง ส่วนสีของตัวเลข 1000 ด้านบนจะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว ถ้าไม่เปลี่ยนสีแสดงว่าเป็นของปลอม นอกจากนั้น ยังสังเกตได้จากผนึกที่อยู่บนด้านหน้าเบื้องซ้ายของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท โดยจะมองเห็นเป็นหลายมิติแตกต่างกันตามชนิดราคา และจะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมา

ส่วนธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เมื่อพลิกเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง และมองจากมุมล่างซ้ายเข้าหากึ่งกลางธนบัตร จะเห็นตัวเลขอารบิก 20

อย่างไรก็ดี สถานที่ที่เจ้าที่ตำรวจเตือนให้ระวังเป็นพิเศษ คือ แหล่งชุมชนและย่านธุรกิจ ที่มีคนเบียดเสียดแย่งซื้อของรวมทั้งสถานที่ที่มีแสงสว่างน้อย เพราะจะทำให้การยกธนบัตรส่องดูว่าเป็นของจริงหรือปลอมทำได้ลำบาก หรือหากจำเป็นต้องการแลกเงินควรใช้บริการของร้านแลกเงินที่เป็นหลักเป็นฐาน แทนที่จะไปแลกกับพวกที่เตร็ดเตร่อยู่ข้างทาง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับธนบัตรปลอมได้

เตือนภัย “มุกใหม่” ระวังถูกหลอก

เป็นเรื่องที่ถูกโพสต์ต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ จริงเท็จอย่างไรก็ลองพิจารณากันดู เรื่องมีอยู่ว่า แม่ค้ารายหนึ่งอาศัยจังหวะเนียน ๆ ขณะทอนเงินลูกค้าแล้วทำท่าว่าตัวเองถูกหลอกด้วยแบงก์ปลอม แต่จริง ๆ แล้วแอบเปลี่ยนแบงก์จริงเก็บเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่ลูกค้ารายหนึ่งจ่ายเงินค่าอาหารและรอเงินทองจากแม่ค้า แต่แล้วกลับถูกแม่ค้าเดินกลับมาโวยวายแถมใส่ความหน้าด้าน ๆ ว่า เงินที่ให้มาเป็นแบงก์ 1,000 ปลอม เป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนัก โชคดีมีสายตรวจมาซื้อของร้านข้าง ๆ พอดี จึงเรียกให้มาช่วยเคลียร์ แต่แม่ค้าไม่ยอมให้ค้น ดันพลิกเกมแล้วรีบเดินไปหยิบเงินทอนมาให้อย่างหน้าตาเฉย สุดท้ายก็ยอม ๆ ความกันไป

ทางที่ดีก่อนจ่ายเงิน โดยเฉพาะธนบัตรราคาสูง ๆ ออกไป ควรจำหมายเลขในแบงก์ไว้บ้าง เพื่อความปลอดภัย

ทุกวันนี้ ธนบัตรปลอมปะปนอยู่ในระบบเงินตรา ย่อมสร้างปัญหาให้กับผู้รับเงิน เพราะนอกจากจะทำให้เงินตราที่ได้รับขาดจำนวนแล้ว ยังส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในธนบัตรของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ธนบัตรปลอมจึงถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงเสมอมา

ทำให้ธนบัตรปลอมเป็นเรื่องบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ผู้ที่ทำปลอมซึ่งทั้งเงินตรา เหรียญกษาปณ์และธนบัตร มีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 240 โทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต และนำเข้ามาในราชอาณาจักรก็จำคุกตลอดชีวิต ผู้ใดนำออกใช้จำคุก 1-15 ปี ถ้าพบเห็นให้รีบแจ้งตำรวจทันที หรือถ้าสงสัยเกี่ยวกับธนบัตรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร ฝ่ายจัดการธนบัตรสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.02-356 8737

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ชวนให้แตกตื่น เพียงแต่นำเสนอความจริงเพื่อให้ระมัดระวัง และรอบคอบกันมากขึ้นก็เท่านั้น เพราะแก๊งมิจฉาชีพทุกวันนี้ เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวกว่าที่คุณคิด เห็นได้จากกรณีแบงก์ปลอมที่มีการพลิกเกมจากแบงก์ใหญ่เป็นแบงก์เล็ก นับเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

ขอบคุณรูปภาพ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากธนาคารแห่งประเทศไทย

Credit by manager

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ