เป่านกหวีด..ปรี๊ดส่งเดช เข้าข่ายนักโทษคดีพิเศษ ดีเอสไอ?

'นกหวีด' สัญลักษณ์เกมการเมืองชิ้นใหม่

‘นกหวีด’ สัญลักษณ์เกมการเมืองชิ้นใหม่

 

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ‘นกหวีด’ สัญลักษณ์เกมการเมืองชิ้นใหม่ที่ใครถูกเป่าใส่ เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า ‘คุณกำลังถูกขับไล่’ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเสียงหวีดร้องแหลมของมันจะกรีดบาดขั้วหัวใจของผู้ทรงเกียรติบนเกมกระดานการเมืองไม่น้อย ร้อนถึงท่านเจ้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องออกหน้าปรามประชาชนผู้แสดงสิทธิในกรอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการเป่านกหวีด แถลงให้ทราบโดยทั่วกันชัดๆ ว่า การออกมาเป่านกหวีดขับไล่มีความผิดตามกฎหมายอาญา ทำเอาคนส่วนใหญ่ตีความไปในทิศทางเดียวว่านี่เป็นการข่มขู่ลิดรอนสิทธิประชาชน

         จะว่าไปสัญลักษณ์ทางการเมืองเล็กพริกขี้หนูชิ้นนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับกระแสคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แพร่ในวงกว้าง จากสามเสนสู่ราชดำเนินหวีดกรีดร้องไปทั่วแผ่นดิน ด้าน สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มต่อต้านการพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ประกาศกร้าวว่าจะยกระดับการชุมนุม โดยขอความร่วมมือจากประชาชนแสดงมาตรการอารยะขัดขืนด้วยวิธีร่วมเป่านกหวีดต่อต้าน ซึ่งก็ดูเหมือนมวลชนจะร่วมแสดงออกผ่านการเป่านกหวีดขับไล่บรรดานักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐฯ อย่างล้นหลาม

         ร้อนถึง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และคณะผู้บริหารดีเอสไอ ออกมาประกาศต่อสาธารณะว่าการเป่านกหวีดแสดงมาตรการอารยะขัดขืนของคุณๆ ทั้งหลายนั้นเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา ได้แก่ 1. มาตรา 370 ทำให้เกิดเสียงอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท 2. มาตรา 397 ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในส่วนผู้กระทำผิดหากเป็นข้าราชการจะแจ้งต้นสังกัดให้ดำเนินการวินัยด้วย

รัฐธรรมนูญให้สิทธิพลเมือง
         ทีมข่าวฯ สอบถามไปยัง เกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ กรณีดีเอสไอออกมาแสดงบทบาทคาดโทษประชาชนผู้ทำการเป่านกหวีดขับ ว่าเป็นเหตุอันควรตามระบอบประชาธิไตยหรือไม่

         “คดีลักษณะอย่างนี้เหมือนกับข่มขู่ประชาชน การเป่านกหวีด การไปชุมนุมทางการเมือง มันถือว่าเป็นระบบเปิดเผยตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพราะว่าการเลือกผู้แทนมาเป็นการเลือกผู้แทนแบบประชาธิปไตย ฉะนั้น เป็นสิทธิของพลเมือง มีสิทธิที่จะคุ้มครอง มีสิทธิที่จะคัดค้านเมื่อบริหารประเทศไม่ถูกต้อง

         “คือประชาชนถือเป็นเจ้าของอำนาจแท้จริง ประชาชนมอบอำนาจให้ไปบริหารงานบ้านเมืองแต่กลับไปทำให้บ้านเมืองเสียหาย ก็ทำให้ประชาชนเค้ามีสิทธิออกมา เพราฉะนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศมีสิทธิที่เรียกว่า สิทธิพลเมือง”

         อย่างไรก็ตาม ผู้นำประทศหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกประชาชนขับไล่ด้วยการเป่านกหวีด ได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อฯ เอาไว้อย่างชัดเจนว่ายอมในสิทธิที่ประชาชนแสดงออก

“ผู้ชุมนุมจะแสดงออกด้วยเป่านกหวีดใส่คณะรัฐมนตรีและนายกฯ นั้น ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้” คำกล่าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับ ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ทุกข์ร้อนกับปฏิกิริยาขับไล่ของมวลชนด้วยการเป่านกหวีด กล่าวไว้ว่า

          “รับได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเพียงอย่าใช้คำหยาบหรือด่าต้นตระกูล ทุกคนใช้เสรีภาพแสดงออกได้ไม่โกรธ มีบางแห่งเมื่อเป่านกหวีดมาก็สนุกเป่าตอบเล่นไปก็ไม่มีอะไรรุนแรง”

         ท่านผู้นำทั้งสองคนดูจะใจกว้างเสียเหลือเกิน เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย ย้อนกลับมาที่ฝากผู้รักษากฎหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กลับมีพฤติกรรมขู่ฟ่ออะไรเทือกนั้น

         ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกสำนัก เมื่อถูกถามว่าจะดำเนินคดีต่อผู้ออกมาเป่านกหวีดจำนวนมากไหวหรือไม่อย่างไร เจ้าตัวเปิดเผยว่า นี่คือเหตุผลที่ดีเอสไอออกมาแจ้งเตือนว่า อย่าเข้าใจผิดว่าการยุยงให้เป่านกหวีดเป็นอารยะขัดขืนที่ทำได้ กฎหมายบ้านเมืองไม่ให้ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน การออกมาเป่านกหวีดขับไล่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดชัดเจน เราจึงต้องออกมาแจ้งเตือนกระตุกความคิดว่าออกมาทำอะไรก็ทำได้แต่อย่าทำผิดกฎหมาย

         งานนี้ทางแกนนำผู้ปลุกพลังเสียงกรีดร้องของนกหวีด ก็ตอบโต้ในเวลาถัดมา “ถ้าจะเอาผิดก็มาเอาผิดผม อย่าพาลเอาผิดคนอื่นๆ และถ้านายธาริตจะเอาคดีเป่านกหวีดเป็นคดีพิเศษก็เอาหมายจับมาที่นี่ จะไม่หนีไปไหน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

         อย่างไรก็ตาม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็นำ ‘นกหวีดสีแดง’ มาร่วมเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเช่นกัน เบื้องต้นจัดจำหน่ายในราคา 10 บาท เท่านั้น สำหรับผู้ชุมนุมเป่าต้อนรับแกนนำ ที่จะขึ้นปราศรัย บริเวณ สถานราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก ในช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ย.อาญาที

 ข่มขู่ประชาชน ลิดรอนเสรีภาพ?
         “อยู่ดีๆ มาดำเนินคดีอย่างนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าละอายใจ เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง” ทนายความท่านเดิม กล่าวขึ้น ก่อนอธิบายเสริมว่า การที่ดีเอสไอออกมาแถลงว่าการเป่านกหวีดขับไล่เข้าข่ายความผิดทางอาญามีโทษทางกฎหมาย ถ้าพิจารณาดูแล้วไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของดีเอสไอโดยตรง

         “ไม่เกี่ยวครับ อันดับแรกเลยความผิดลหุโทษ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มีกฎหมายว่า ข้อหาใดที่อยู่ในอำนาจของ ดีเอสไอ และมีคณะกรรมการพิจารณาว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ แล้วกรรมการชุดนั้นจะมีกรรมการจากหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นกรรมการ ไม่ใช่ว่าจะพิจารณาให้เป็นคดีพิเศษโดยง่ายมันไม่ใช่ เพราะมันมีหลักอยู่แล้วว่า ใช้พ.ร.บ.คดีพิเศษมันมีกำหนดโทษฐานความผิดไว้ทั้งหมดกี่มูลฐาน ถ้านอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา21 อาจเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไม่ครอบคลุมไปถึง จึงพิจารณาว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่? แต่นั่นต้องเป็นคดีร้ายแรงมีลักษณะเทียบเท่ากัน ไม่ใช่เอาคดีลหุโทษแบบนี้มาทำ ดีเอสไอ ไม่ควรมาทำ นี่เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ โรงพักก็ทำได้ ”

        ตัวแทนจากสภาทนายความให้ข้อมูลต่อว่า แถลงการณ์ในเรื่องความผิดทางอาญากรณีดังกล่าวดูจะผิดวัตถุประสงค์องค์กรไป ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ทำแสดงให้เห็นว่ากฎหมายในประเทศไทยนั้นอ่อนแอ

         “บ้านเมืองในขณะนี้มาตราฐานกฎหมายมันค่อนข้างจะเพี้ยนไปหมด ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ซึ่งหลักกฎหมายที่เรียนกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ครูบาอาจารย์สอนไว้มันไม่ได้เป็นอย่างนี้ คือไม่มีมาตีความกฎหมายให้มันเพี้ยน ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายของตน เหมือนกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งมันไม่ควรจะออกมาได้มันก็ออกมาโดยอาศัยเสียงข้างมากต่างๆ ซึ่งมันเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความน่าห่วงใยของระบบกฎหมายไทย”

 อย่า! อ้างกฎหมายเหยียบประชาชน
        “เรื่องการเป่านกหวีด เป็นสิทธิที่เรียกว่า อารยะขัดขืน คือเป็นเรื่องของการขัดขืนในลักษณะผู้เจริญที่เค้าทำกัน ทางนี้ไม่ใช้ความรุนแรงไปเผาบ้านเผาเมืองหรืออะไรต่างๆ ซึ่งไปก่อความรุนแรงให้ประชาชน อารยะขัดขืน เป็นการแสดงออกของประชาชนเป็นสัญลักษณ์ การเป่านกหวีดก็เป็นการแสดงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ต่อต้านไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล” เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

        อย่างไรก็ตาม การเป่านกหวีด ไม่ได้มีความผิดทางกฎหมายโดยตรง เพียงแต่ว่าเข้าข่ายในเรื่องเสียงรบกวน ในเรื่องสิทธิส่วนบุคล ทำให้โยงเข้ากับความผิดทางอาญาดังที่ดีเอสไอกล่าวอ้าง ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

         “โทษต่ำสุดทางอาญาก็คือริบทรัทย์สินที่ใช้ในการทำความผิด และมามองในเรื่องเสียงดังในที่สาธารณะมันมีกฎหมายปรับใช้ได้อยู่แล้ว เรื่องการก่อกวน ทำให้เกิดความวุ่นวายมากกว่า การเป่านกหวีดโดยตัวเนื้อหากฎหมายมันไม่มีเขียนไว้หรอกครับ ต้องเอากฎหมายอื่นมาปรับใช้ เช่น เดือดร้อน รำคาญ ฯลฯ จะเป็นในลักษณะนั้น ถามว่าเป็นความผิดทางอาญาได้มั้ย? มันก็จะมีโทษปรับกักขัง คุมขัง เป็นความผิดทางอาญา”

แน่นอนว่า พฤติกรรมการเป่านกหวีดของประชาชนแสดงออกถึงนัยยะบางอย่าง ก่อผลกระทบต่อผู้ที่โดนพิษจากเสียงกรีดร้องของมัน

         “มีผลกระทบพอสมควร เพราะเป็นการแสดงออกทางการเมืองของการไม่ยอมรับ เหมือนกับการโห่ไล่ แต่การเป่านกหวีดมันก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกาย ไม่ได้ไปกระทบถูกเนื้อต้องตัว แต่มันมีผลในเชิงจิตวิทยาเพราะว่าวันนี้ทุกคนเข้าใจว่านกหวีดป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมทางการเมือง เมื่อก่อนเรามีมือตบเท้าตบ แต่วันนี้กลายเป็นนกหวีด มันเป็นเป็นกิมมิคทางการเมืองที่เอามาใช้เพื่อดึงดูดคน เป็นเครื่องมือที่แสดงออกทางการเมืองที่สื่อสารชัดเจนได้ผล มีประสิทธิภาพ”

         ท้ายที่สุดแล้ว การออกมาแถลงของดีเอสไอต่อสาธารณะว่า การเป่านกหวีดแสดงมาตรการอารยะขัดขืนของประชาชนนั้นเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จะสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมของมวลชนที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองได้หรือไม่คงต้องจับตาดูกันต่อไป?

Credit by Manager

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ