เตรียมเปิดประมูล 4G ลั่นปี 57 เชื่อค่าบริการถูกลง 5-8%

เล็งประมูล 4G

เล็งประมูล 4G

กทค. เตรียมเปิดประมูล 4G ลั่นปี 57 เชื่อค่าบริการถูกลง 5-8% แจ้งเกิด ส่วน 3G คาดผู้ประกอบการเริ่มให้บริการ 3G ประมาณต้นเดือนเมษายน 56

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า หลังจาก กสทช. ได้ผ่านพ้นการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ เพื่อให้บริการมือถือระบบ 3G ไปแล้วเมื่อปลายปี 2555 เท่าที่ติดตามผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทราบว่า คงจะสามารถเปิดให้บริการบางส่วนได้ประมาณต้นเดือนเมษายนนี้

แม้หลายฝ่ายมองว่าประเทศไทยยังคงล่าช้ากว่าเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ที่เปิดให้บริการมือถือระบบ 4G ไปแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าล่าช้าไปมาก เพราะบางประเทศเพิ่งเริ่มจะใช้ ส่วนประเทศไทยคาดว่าอีกประมาณไม่เกิน 2 ปี จากนี้เชื่อว่าเราจะสามารถเปิดใช้บริการ 4G ได้ โดยล่าสุด กสทช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเตรียมการเปิดประมูล 4G แล้วเช่นกัน เนื่องจากสัญญาสัมปทานมือถือบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กับบริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดีพีซี จะหมดลงในเดือนกันยายนนี้ ทำให้ต้องมีการคืนคลื่นความถี่กลับมาที่ กสทช. ดังนั้น กสทช. จึงต้องนำคลื่นความถี่นี้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้คลื่นดังกล่าวยังเป็นระบบ 2G หรืออัพเกรดเป็น 2.5G ก็ตาม แต่คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตช์ สามารถนำไปใช้เป็น 4G ได้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือการนำคลื่นดังกล่าวไปให้บริการมือถือระบบ 4G ที่ทั่วโลกกำลังก้าวสู่เทคโนโลยีนี้ เพราะหากเรายังคงใช้เทคโนโลยีเดิมก็จะมีปัญหา เรื่องอุปกรณ์จะผลิตน้อยลง ทำให้การดูแลรักษาแพงขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องตามให้ทันเทคโนโลยี หรือไม่ก็ต้องจ้างผลิตอุปกรณ์ที่ทั่วโลกไม่ผลิตแล้ว

อย่างไรก็ตาม การจะเดินไปสู่เทคโนโลยี 4G ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะหลังสิ้นสุดสัมปทานยังคงมีลูกค้าในระบบเดิมอยู่อีกกว่า 10 ล้านเลขหมาย กสทช. จึงต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อเตรียมการ และเริ่มทำงานเมื่ออายุสัญญาสัมปทานหมดลงเพื่อดูแลผู้บริโภคเหล่านี้ ส่วนที่ถามว่า เมื่อนำคลื่นความถี่ 4G มาใช้แล้วราคาค่าบริการจะถูกลง หรือไม่ ยืนยันได้ว่า ถูกลงแน่นอน เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและการติดตั้งโครงข่ายต่าง ๆ ทำให้การจัดการง่ายขึ้น จึงทำให้ต้นทุนต่ำลง ทั้งนี้ เมื่อการต้นทุนต่ำก็จะทำให้ราคาค่าบริการต่ำลงตามไป ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของระบบโทรคมนาคมที่ราคาจะลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ ทุกปี ประมาณปีละ 5-8 %

พ.อ.เศรษฐพงค์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของราคาการประมูลนั้น ตนเองคงไปชี้อะไรไม่ได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากการประมูลครั้งก่อนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก ทั้งที่การตั้งราคาประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ครั้งก่อนเราไม่ได้ถูกกว่าประเทศอื่น แต่ก็ถูกโจมตี

 

Credit:  Kapook.com

 

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ