อ่านฉลากไม่เข้าใจอันตรายกว่าที่คิด

อ่านฉลาดไม่เข้าใจ อันตรายกว่าที่คิด

อ่านฉลาดไม่เข้าใจ อันตรายกว่าที่คิด

ไม่รู้จักยา อ่านฉลากไม่เข้าใจ…อันตรายกว่าที่คิด
คุณมั่นใจแค่ไหนกับยาที่กำลังกินเข้าไปนั้นสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นของคุณได้ ไม่เสี่ยงกับการใช้ยาผิดชนิด ผิดขนาดหรือผิดประเภท ซึ่งอาจะเป็นอันตรายถึงชีวิต จนเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ร้านยาคุณภาพ โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาเภสัชกรรม ผนึกเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จัดงาน “สัปดาห์เภสัชกรรม ประจำปี 2555” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ระหว่างวันที่ 24-30 มิถุนายน 2555 เร่งรณรงค์ “อ่านฉลากยาและจดบันทึกการใช้ยาต่อเนื่อง” เพื่อเน้นให้ผู้ป่วยรู้จักยาที่ตัวเองใช้ ช่วยลดอันตรายและผลข้างเคียงจากการใช้ยาผิด ภายใต้คำขวัญ “รู้จักยาที่ใช้ อ่านฉลากให้เข้าใจ บันทึกยาไว้ ปลอดภัยต่อเนื่อง”

ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ผลสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องยาในต่างจังหวัด พบว่า 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75 ใช้ยาโดยไม่รู้จักชื่อยา ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจก็ไม่แตกต่างกัน โดยคนไทยให้ความสำคัญกับชื่อยาน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษจำยากไม่คุ้นหู หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันรณรงค์ เพราะการที่ผู้ป่วยไม่รู้จักชื่อยาที่ใช้นั้นอันตรายกว่าที่คิด เนื่องจากยาที่ใช้รักษาอาการหรือโรคเดียวกันมีหลายชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตมีเป็นสิบๆ ชนิด และแต่ละตัวยังมีหลายขนาดความแรง ซึ่งยาแต่ละตัวอาจจะเหมาะกับผู้ป่วยรายหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยอีกราย หรืออาจมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยอีกรายทั้งนี้ขึ้นกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

“การที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้จักชื่อยาที่ใช้อยู่ทำให้น่าเป็นห่วง เพราะคนไทยชอบแนะนำยาให้คนใกล้ชิดหรือเพื่อนๆ กันลองใช้ดูเพราะเห็นว่าตนเองใช้ได้ผลดี การบอกเพียงรูปลักษณ์ของยามีโอกาสเสี่ยงที่จะแนะนำยาผิด เพราะมียาหลายชนิดที่มีลักษณะของบรรจุภัณฑ์ รูปแบบเม็ดยา สียา ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันหรือแม้แต่ชื่อยาที่ออกเสียงคล้ายคลึงกันก็มีไม่น้อย การบ่งชี้ด้วยสายตาหรือฟังการออกเสียงอย่างเดียวจึงมีความเสี่ยงที่อาจได้รับยาผิดชนิดได้” ภญ.รศ.ธิดา แจง

ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ กรรมการสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวแนะนำว่า ผู้ใช้ยาโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยารักษาประจำและต่อเนื่อง ควรมี “สมุดบันทึกยา” พกไว้ติดตัว ซึ่งจะช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกรสามารถส่งต่อข้อมูลเรื่องยา และเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยไม่มีปัญหากับยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำอยู่แล้ว นอกจากนี้ในภาวะฉุกเฉิน หรือเมื่อเกิดวิกฤติภัย สมุดบันทึกยาที่พกติดตัวไว้ ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสไปรับการรักษาในสถานพยาบาลเดิม สามารถรับยาจากหน่วยบริการอื่นได้อย่างต่อเนื่อง

“ต้องรู้จักชื่อยาที่ใช้ มีประวัติแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเมื่อมารับการรักษา ถ้ามียาสมุนไพร อาหารเสริมที่ต้องใช้เป็นประจำควรบันทึกไว้ในสมุดบันทึกยา และให้แพทย์หรือเภสัชกรดูทุกครั้งเมื่อมารับการรักษา อ่านฉลากยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง ใช้ยาตามคำแนะนำในฉลากยาและภายหลังที่ใช้ยาที่ไม่เคยรู้จัก หรือใช้เป็นครั้งแรกให้หมั่นสังเกตตัวเอง ถ้าพบความผิดปกติสงสัยแพ้ยาให้รีบกลับมาพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้าน” เภสัชกรหญิง ให้คำแนะนำ

เพื่อปลอดภัยจากการใช้ยา “รู้จักยาที่ใช้ อ่านฉลากให้เข้าใจ บันทึกยาไว้ ปลอดภัยต่อเนื่อง” และเมื่อมีปัญหาเรื่องการใช้ยาให้ปรึกษาเภสัชกรที่ประจำ ณ สถานพยาบาลและร้านยาทั่วประเทศ

 

Credit:  เดลินิวส์

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ