ศธ. ยอมถอย คัดเกรด ม.4 ตกซ้ำชั้น หวั่นโดนนักเรียนฟ้อง

ศธ. ยอมถอย คัดเกรด ม.4 ตกซ้ำชั้น หวั่นโดนนักเรียนฟ้อง

ศธ. ยอมถอย คัดเกรด ม.4 ตกซ้ำชั้น หวั่นโดนนักเรียนฟ้อง

 

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 “อ๋อย”ยอมถอยคัดเกรดม.4-ตกซ้ำชั้น กลัวโดนนักเรียนฟ้อง-เรียนแย่อาจอ่อนข้อให้แก้เป็นรายวิชา

กระทรวงศึกษาฯ ยอมถอนแก้ประกาศรับนักเรียนปี 2557 คัดเกรด 2.5 ขึ้นชั้น ม.4 หวังบีบเด็กเกรดต่ำเข้าสายอาชีวะแทน เชื่อ ถ้าทำจริงถูกนักเรียนฟ้องแน่ หากเรียนแย่อาจให้ซ้ำเป็นรายวิชาแทน

มีแนวโน้มว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทบทวนนโยบายเรื่องการเรียนตกซ้ำชั้น และการเพิ่มสัดส่วนยอดผู้เรียนสายอาชีพ ลดยอดผู้เรียนสายสามัญ โดยเฉพาะลดการรับนักเรียนขึ้นชั้น ม.4 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเตรียมแก้ประกาศรับนักเรียนของปีการศึกษา 2557 นั้น

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 แหล่งข่าวระดับสูง สพฐ. เปิดเผยว่า ในส่วนการพิจารณาปรับแก้ประกาศการรับนักเรียน ที่ตามเป้าหมายต้องลดการรับนักเรียนชั้น ม.4 ของปีการศึกษา 2557 ประมาณกว่า 1 แสนคน เพื่อไปเพิ่มยอดผู้เรียนสายอาชีพนั้น ที่ผ่านมาได้มีการประชุมของ สพฐ. เพื่อพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียนตามประกาศการรับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ประจำปีการศึกษา 2557 ที่มีนายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สพฐ. จะไม่แก้ประกาศการรับนักเรียนปีการศึกษา 2557 ที่ได้มีการออกไปประกาศไปแล้ว เพราะจากการวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าหากปรับแก้ประกาศจริงจะต้องมีปัญหาการฟ้องร้องตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ม.3 ที่จะเรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม ที่อาจจะเสียสิทธิ์ก็อาจยื่นฟ้องร้องได้

“หากมีการแก้ไขประกาศการรับนักเรียนโดยเฉพาะการ ปรับผลการเรียนเฉลี่ยที่จะเรียนต่อชั้น ม.4 จาก 2.00 เป็น 2.30-2.50 รวมทั้งการจำกัดการรับนักเรียนชั้น ม.4 ไม่ให้เกิน 40 คนต่อห้องเรียน จะทำให้เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าเรียนได้ และเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิดังกล่าวอย่างแน่นอน ฉะนั้นที่ประชุมจึงเห็นควรให้ใช้ตามประกาศการรับนักเรียนปีการศึกษา 2557 ตามเดิม ซึ่งประกาศนี้ได้มีการแจ้งให้สถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองทราบล่วงหน้าไปแล้ว” แหล่งข่าว สพฐ. กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้จะต้องนำเสนอนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ. และนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป

ขณะที่ นายจาตุรนต์ กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายการเรียนตกซ้ำชั้นว่า คงต้องมาซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องอีกพอสมควร เพราะระเบียบว่าด้วยการตกซ้ำชั้น ตนได้ลงนามไว้แล้วตั้งแต่เมื่อครั้งที่เป็น รมว.ศธ.ใน พ.ศ. 2548 แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะโรงเรียนและครูไม่ได้นำไปดำเนินการ จึงไม่เห็นผล ฉะนั้นมาถึงครั้งนี้จึงคิดว่าแม้จะประกาศออกไปเป็นนโยบายให้มีการตกซ้ำชั้น จึงไม่เกิดประโยชน์ หากโรงเรียนและครูไม่เข้าใจและปฏิบัติตาม

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีโรงเรียนในสังกัด จึงต้องเข้าใจรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานอย่างแท้จริงก่อน โดยทิศทางใหญ่ที่ต้องมุ่งดำเนินการคือ การปรับระบบการวัดผลประเมินผล ที่จะต้องเชื่อมโยงไปถึงการจัดระบบทดสอบกลางที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้โรงเรียนรู้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในภาพรวม ครูรู้ถึงผลการเรียนของเด็กตัวเองเป็นรายห้องและเป็นตัวบุคคล และนำผลไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนได้ตรงจุด

“หากเราสามารถจัดการวัดผลประเมินผลที่ได้มาตรฐานได้ สามารถรู้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นรายคนได้ ก็สามารถดำเนินการได้หลายแนวทางตามนโยบาย โดยการตกซ้ำชั้นอาจไม่ได้หมายความว่าให้นักเรียนต้องกลับมาเรียนใหม่ทั้งหมด อาทิ ให้ตกซ้ำชั้นเป็นรายวิชา และให้มีระบบซ่อมเสริม หรือจัดระบบวิชาเลือกขึ้น” นายจาตุรนต์ กล่าว

Credit by ไทยโพสต์

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ