• Home »
  • ข่าวทั่วไป »
  • วิกฤตไข้เลือดออก เผยสถานการณ์กลุ่มอาเซียนน่าห่วง ผู้ป่วยไทย2-3เท่า ลาว 8 เท่า!

วิกฤตไข้เลือดออก เผยสถานการณ์กลุ่มอาเซียนน่าห่วง ผู้ป่วยไทย2-3เท่า ลาว 8 เท่า!

200656-4

สถานการณ์ไข้เลือดออกกลุ่มประเทศอาเซียนน่าห่วง หวั่นช่วง มิ.ย.-ส.ค.56 จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่าตัว สธ.ไทย เร่งรณรงค์พิชิตไข้เลือดออก ชูหลัก 5 ป.1 ข.คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดไข่ยุงลาย

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศอาเซียนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง ข้อมูลจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยใน 6 ประเทศ รวม 123,206 ราย ดังนี้ ฟิลิปปินส์ 37,895 ราย เวียดนาม 13,903 ราย มาเลเซีย 10,401 ราย สิงคโปร์ 8,483 ราย ลาว 6,377 ราย กัมพูชา 2,538 ราย และในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม- 11 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วย 43,609 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี พ.ศ.2555 กว่า 3 เท่าตัว เสียชีวิต 50 ราย หากไม่เร่งควบคุม โดยเฉพาะความร่วมมือจากประชาชนทุกคน คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้คือมิถุนายน-สิงหาคม จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว เนื่องจากมีปริมาณยุงลายมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สธ.ไทยก็รณรงค์ยึดหลัก 5 ป.1 ข.คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดไข่ยุงลาย พร้อมกำชับ สธ.ทุกจังหวัดให้ความรู้ประชาชน

ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการของโรคไข้เลือดออก ที่สังเกตง่ายๆ คือ ไข้สูงลอย ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะไข้ทุเลา หรือที่เรียกว่าสร่างไข้ แทนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกแจ่มใสขึ้น แต่จะกลับซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ เป็นอาการช็อก มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ช่วงนี้เป็นช่วงการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอย้ำเตือนอย่านิ่งนอนใจ จนไปพบแพทย์ช้า ทำให้อาการหนัก รักษายาก และอาจเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามที่ศูนย์บริการข้อมูลสายด่วนฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข หมายเลข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333

ไข้เลือดออกแรงลาวตาย 31 ป่วย 8,000 อนามัยโลกหวั่นเลวร้ายสุดๆ

ไข้เลือดออกระบาดหนักในลาว มีผู้เสียชีวิตแล้ว 31 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมดเกือบ 8,000 คน นพ.บุนหลาย พมมะสัก อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เนื่องในโอกาส “วันโรคไข้เลือดออกอาเซียน 2013” สำนักข่าวของทางการรายงาน 
เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำลาวเชื่อว่า จำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตอาจจะสูงขึ้นกว่านี้ขณะย่างเข้าฤดูฝนซึ่งการแพร่ระบาดจะรุนแรงที่สุด สถานการณ์ในลาวอาจจะเลวร้ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
โรคที่มียุงลายเป็นพาหะนี้ ฆ่าคนไปปีละ 20,000 คนทั่วโลก ทุกปีจะมีผู้ป่วยระหว่าง 5 แสน ถึง 1 ล้านราย ในนั้น 75% อยู่ในย่านเอเชียแปซิฟิก โดยกลุ่มประเทศอาเซียนมีประวัติเรื่องนี้ร้ายแรงที่สุด
รัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่มที่ประชุมกันเมื่อปี 2553 ได้ตกลงให้วันที่ 15 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน นพ.หลิวหยุนกว๋อ แห่งองค์การอนามัยโลกประจำลาวกล่าว
จนถึงวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตในลาวเพิ่มขึ้นเป็น 31 คน จาก 26 คน เมื่อเดือนที่แล้ว และผู้ป่วยมีจำนวนทั้งสิ้น 7,920 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2553 ถึง 8 เท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
“ลาวอาจจะต้องพบกับการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ สถานการณ์อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยเจอเมื่อปี 2553..”
“ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการที่สัมฤทธิผล ก็จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมรุนแรงติดตามมา รวมทั้งจำนวนผู้ที่เสียชีวิตที่สูงขึ้น โรงพยาบาลที่คนไข้เบียดเสียดแออัด หรือตามสถานีอนามัยต่างๆ ในระดับท้องถิ่น รวมทั้งจะมีคนงานจำนวนมากที่ต้องหยุดงานเพราะล้มป่วย” นายแพทย์หยุนกว๋อกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของลาวอาจจะได้รับผลกระทบด้วย นักท่องเที่ยวจะหยุดเดินทางเข้าประเทศเมื่อมีเกิดโรคระบาด ซึ่งรัฐบาลลาวควรรีบดำเนินมาตรการจำเป็นต่างๆ เพื่อรับสถานการณ์ ในระดับท้องถิ่นควรจะมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และส่วนกลางต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองอย่างทั่วถึง เจ้าหน้าที่อนามัยโลกกล่าว     ตามรายงานอีกชิ้นหนึงของสำนักข่าวทางการ แขวงจำปาสัก มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด ระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยกว่า 1,000 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12 ราย

Credit by ASTV

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ