• Home »
  • ข่าวทั่วไป »
  • ปี 2557 ภาคเหนือมีโอกาสเข้าสู่ภาวะภัยแล้ง เพราะน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง

ปี 2557 ภาคเหนือมีโอกาสเข้าสู่ภาวะภัยแล้ง เพราะน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง

เขื่อนภูมิพล

 

          วันที่ 25 ธันวาคม 2556  นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวสถานการณ์น้ำฝนในปี 2557 ว่า จากผลการวิเคราะห์โดยแบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ) ว่าปริมาณน้ำฝนจะใกล้เคียงกับปี 2545 คือ ปีดังกล่าว อยู่ที่ 3,656 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถือว่าปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง เข้าข่ายการจัดการน้ำลำบาก แต่ยังน้อยกว่าปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 5,010 ล้าน ลบ.ม.

          นายรอยลกล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จุดศูนย์กลางความกดอากาศสูงอยู่ที่ประเทศจีน ค่อนไปทางทิเบต ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วใน 2 พื้นที่ คือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิเคราะห์ได้ว่าหากปีไหนที่อากาศหนาวแรงมากๆ จะทำให้บรรยากาศแห้งตามมา

ดังนั้น โอกาสที่ปี 2557 ภาคเหนือจะเกิดปัญหาภัยแล้ง มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่พบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย ถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี

          โดยเขื่อนภูมิพลปริมาณน้ำที่ใช้ได้คือ 3,478 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ 2,979 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อย 568 ล้าน ลบ.ม. โดยทั้ง 3 เขื่อนจะเป็นเขื่อนหลักที่ทำหน้าที่จ่ายน้ำให้กับภาคการเกษตรในพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวน 3 ล้านไร่ ตลอดช่วงฤดูแล้งในปีหน้า

          “สิ่งที่น่ากังวลคือ แม้เราจะคำนวณปริมาณการใช้น้ำสำหรับทำการเกษตรเอาไว้ชัดเจน แต่ความจริงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือเกษตรกรปลูกพืชมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่จริง โดยเฉพาะการทำนาที่มากเกินกว่าปีละ 2 ครั้ง ตามปริมาณน้ำที่มีอยู่ เช่น ในปี 2556 ได้สำรองน้ำสำหรับภาคการเกษตร 4 ล้านไร่ แต่มีการใช้น้ำจริงถึง 6 ล้านไร่ ในปริมาณน้ำจาก 3 เขื่อนดังกล่าว เรายังต้องกันน้ำไว้อีก 1,800 ล้าน ลบ.ม. ไว้สำหรับไล่น้ำเค็มในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคมอีกด้วย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะในปี 2557 กรมอุทกศาสตร์ได้แจ้งถึงความผิดปกติมาว่าระยะเวลาในการหนุนของน้ำทะเลจะนานกว่าเดิมในรอบ 10 ปี คือ จากเดิมที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดกินเวลา 8 ชั่วโมง จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 ชั่วโมง ด้วยกันโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ยังไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไรน้ำทะเลถึงหนุนสูงเป็นเวลานานผิดปกติ”

          ถามว่า หากน้ำทะเลหนุนสูงนานกว่าปกติ จำเป็นต้องใช้ปริมาณน้ำจืดมากว่า 1,800 ล้าน ลบ.ม. หรือไม่ นายรอยลกล่าวว่า ปริมาณ น้ำ 1,800 ล้าน ลบ.ม.นั้น คิดตามสภาพน้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาปกติ คือ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็น 13 ชั่วโมง คงต้องใช้น้ำมากกว่านี้แน่นอน

          อย่างไรก็ตาม สสนก.ได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมการสำรองน้ำจืดในพื้นที่เสี่ยงไว้ให้มากที่สุดแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งส่งผลต่อการเกษตรอาชีพประมงน้ำกร่อย รวมทั้งชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

 

เขื่อนสิริกิต์

เขื่อนสิริกิต์

 

Credit:  มติชน

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ