• Home »
  • ข่าวทั่วไป »
  • ปิดประชุม วุฒิสภาไม่รับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยมติเอกฉันท์ 141 เสียง

ปิดประชุม วุฒิสภาไม่รับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยมติเอกฉันท์ 141 เสียง

ปิดประชุมสภา ไม่เห็นชอบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ปิดประชุมสภา ไม่เห็นชอบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 

 

         บรรยากาศของการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อลงมติวาระแรก ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตลอดทั้งวัน ภายหลังจากเข้าสู่วาระการประชุมนั้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการออกร่างฯพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และยืนยันว่าจะลงมติโหวตคว่ำหรือไม่รับร่างฯอีกด้วย โดยเหตุผลว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวตราขึ้นกฎหมายที่ไม่ชอบ เพราะการแก้คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขเกินกว่าหลักการที่ได้นำเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ อีกทั้งยังขัดกับหลักนิติธรรมที่มีการแก้ไขที่รวมเอาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นเข้าไป กระทั่งเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาประท้วงคัดค้านอย่างต่อเนื่องด้วย

         ขณะที่ นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง อภิปรายว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้สังคมไทยตื่นขึ้นแล้ว คนได้รับรู้แล้วว่า หากนักการเมืองคนใดได้มีโอกาสรับใช้ประเทศต้องระมัดระวังในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะมิเช่นนั้นคนจะลุกขึ้นมาสู้เช่นนี้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายที่คนยังพูดน้อยมากก็คือการเรียกร้องสิทธิให้กับคนที่เสียชีวิต และพิการในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐได้หากใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายดำเนินมาถึง เวลา เวลา 22.25 น.ภายหลังจาก นายสุโข วุฑฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ เสร็จเป็นคนสุดท้าย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจ้งว่า ขณะนี้วิปรัฐบาลได้ถอนร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาปรองดอง และนิรโทษกรรมทั้ง 6 ร่างออกไปแล้ว อีกทั้งยังยืนยันว่าจะไม่เสนอเข้ามาอีก รวมไปถึงพรรคร่วมก็ลงสัตยาบรรณแล้วเช่นกัน หากที่ประชุมเห็นอย่างไรพรรคร่วมก็จะนำไปปฏิบัติ

         ด้าน นายชัยเกษม นิติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวสั้นๆว่า “ให้เป็นดุลยพินิจของวุฒิสภา”

         ที่สุดมีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 141 เสียง ไม่รับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้พิจารณา

         จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุม จึงสรุปต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 (2) และมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ให้วุฒิสภาส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาไม่ได้แจ้งว่าเป็นพ.ร.บ.การเงิน ดังนั้นสภาผู้แทนจะสามารถนำกฎหมายดังกล่าวนี้มาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 180 วัน และตามมาตรา 149 ยังระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภาผู้แทนฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ.ที่คล้ายกันนี้ไม่ได้อีก จากนั้น นายสุรชัย จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 22.40 น. รวมเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกว่า 10 ชั่วโมง

 

Credit:  มติชน

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ