ชาวพม่าแห่เลือกตั้งซ่อม ไม่พลิกซูจียึดเก้าอี้เข้าสภา

Ongzansujee1

Ongzansujee1

พม่าเลือกตั้งซ่อมคึกคัก ประชาชนแห่ใช้สิทธิเลือก อองซาน ซูจี ทำงานในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก พรรคเอ็นแอลดีประกาศ ป้าซู โค่นคู่แข่งสองรายร่วมเขตตามคาด ผู้แทนตะวันตก-อาเซียน ดูการลงคะแนน บอกเป็นเลือกตั้งจริงแท้ครั้งแรกของพม่า แต่พรรคซูจียังบ่นคู่แข่งใช้กลโกง เชื่อหากมีความเสรียุติธรรม ตะวันตกอาจผ่อนคลายคว่ำบาตรเพิ่ม

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน ซูจี ส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 44 ที่นั่งจากที่เปิดให้เลือกตั้งซ่อม 45 ที่นั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน นางซูจีนั้นลงสมัครที่เขตกอมู พื้นที่ยากจนที่สุดของนครย่างกุ้งซึ่งใช้เวลาขับรถราว 2 ชั่วโมง

หน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ เริ่มเปิดหีบเมื่อเวลา 06.00 น. และปิดลงคะแนนเวลา 16.00 น. ตามเวลาพม่าซึ่งช้ากว่าไทยครึ่งชั่วโมง โดยมีผู้มีสิทธิลงคะแนนครั้งนี้มากกว่า 6 ล้านคน ยังไม่มีความชัดเจนว่าพม่าจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้เมื่อใด แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่ารับปากว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์

เช้าตรู่ตั้งแต่ก่อนเปิดหีบ ผู้มีสิทธิได้ทยอยมารอลงคะแนนจนเต็มหน่วยเลือกตั้งชั่วคราวตามโรงเรียน วัด และศูนย์ชุมชนต่างๆ บางรายกล่าวอย่างตื่นเต้นหลังลงคะแนนว่ามาเลือก “ป้าซู” ซึ่งเป็นชื่อติดปากที่ชาวพม่าเรียกขานนางซูจี

“บ้านฉันเลือกนางทั้งบ้าน และแน่ใจว่าญาติพี่น้องและเพื่อนทุกคนจะเลือกนางด้วย” นอ อง ยี หญิงชาวนาวัย 59 จากหมู่บ้านวาถิ่นคา กล่าว

นางซูจี ผู้ได้รับโนเบลสันติภาพวัย 66 ปี และยังคงเป็นที่รักและเคารพอย่างสูงในหมู่ประชาชนชาวพม่า เดินทางไปใช้สิทธิที่หมู่บ้านนี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านกันดารหนึ่งในหลายสิบหมู่บ้านทางตอนใต้ของย่างกุ้ง นางพักค้างคืนที่นี่และได้ไปตรวจเยี่ยมหน่วยเลือกตั้งในตอนเช้า รถยนต์ของนางต้องเคลื่อนอย่างช้า ๆ ผ่านฝูงชนที่เฝ้ารอตลอดทางและในโรงเรียนที่ใช้เป็นหน่วยลงคะแนน เขตนี้คู่แข่งคนสำคัญของซูจีคือ โซมิน อดีตนายแพทย์ของกองทัพซึ่งลงสมัครในนามพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของรัฐบาล นางซูจีได้พูดคุยกับประชาชนช่วงสั้น ๆ จากนั้นได้ขึ้นรถกลับไปยังนครย่างกุ้ง

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวนา มีฐานะยากจน ไร้การศึกษา พวกเขากล่าวว่าไม่เคยได้รับประโยชน์ใดๆ จากการปฏิรูปที่รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศไว้นับแต่รับตำแหน่งเมื่อ 1 ปีก่อน หมู่บ้านนี้ยังไม่มีไฟฟ้า น้ำประปาหรือถนนลาดยาง แต่ชาวบ้านหวังว่าซูจีจะเปลี่ยนแปลงได้

โก เคทาย ซึ่งบอกว่ามาลงคะแนนให้ซูจี กล่าวว่า พวกเราได้ยินข่าวการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางวิทยุ แต่ชีวิตความเป็นอยู่แต่ละวันก็ยังเหมือนเดิม “ท่านอาจทำไม่ได้ทุกอย่างในตอนนี้ แต่วันหนึ่ง ผมเชื่อว่าท่านจะก่อความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” ส่วนเมีย ถ่อง ชาวบ้านอีกรายกล่าวว่า ซูจีเป็นตัวแทนความฝันของอนาคตที่สดใส และหวังว่านางจะช่วยให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น

ในช่วงเย็น ถิ่น อู สมาชิกอาวุโสพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ประกาศต่อผู้สนับสนุนนับพันคนที่ย่างกุ้งว่า นางซูจีชนะเลือกตั้งเหนือคู่แข่งร่วมเขตทั้งสองคนแน่นอนแล้ว โดยจากการรวบรวมคะแนนของพรรคอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่านางได้คะแนน 82%

ต่อให้จะชนะเลือกตั้งซ่อมทุกที่นั่ง พรรคของซูจีและพันธมิตรฝ่ายค้านก็แทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสภาผู้แทนฯ 664 ที่นั่ง ที่ผู้แทนส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากกองทัพและสมาชิกพรรคที่กองทัพหนุนหลัง กระนั้นการรับรองของนางซูจี ผู้ที่ถูกรัฐบาลทหารในอดีตจับกุมคุมขังยาวนาน 15 ปีและขโมยชัยชนะของพรรคนางในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2533 ที่เอ็นแอลดีชนะถล่มทลาย จะช่วยให้การเลือกตั้งซ่อมวันนี้มีความน่าเชื่อถือ

รัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ว่า อาจผ่อนคลายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบางประการที่ใช้มานานกว่า 2 ทศวรรษเพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า หากว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความเสรีและยุติธรรม

นับแต่รัฐบาลพลเรือนของเต็ง เส่ง รับตำแหน่งหลังชนะการเลือกตั้งที่ถูกค่อนขอดว่าเป็นปาหี่เมื่อปลายปี 2553 ที่ทั้งไม่เสรีและไม่ยุติธรรม รัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปหลายด้าน ตั้งแต่ปล่อยนักโทษการเมือง, เจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์, ผ่อนคลายการเซ็นเซอร์สื่อ, อนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงาน และลดการยอมให้จีนบงการทางเศรษฐกิจและการเมือง เต็ง เส่ง ยังเชื้อเชิญนางซูจีและเอ็นแอลดีลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ หลังจากพวกเขาบอยคอตเลือกตั้งครั้งแรก

เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้รัฐบาลพม่าได้เชิญผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติและผู้สื่อข่าวเข้าประเทศ ต่างจากเลือกตั้งครั้งแรก สหภาพยุโรป (อียู) และอาเซียนได้ส่งตัวแทนไปสอดส่องการเลือกตั้งด้วย แต่พวกเจ้าหน้าที่มีเวลาการเตรียมงานล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน และทำให้ผู้สังเกตการณ์บางรายกล่าวว่า พวกตนเป็นแค่ “ผู้ดูเลือกตั้ง” ไม่ใช่ผู้สังเกตการณ์

มัลกอร์ซาตา วาซิลิวสกา ผู้แทนของอียู กล่าวว่า การทำผิดกฎที่เห็นในหน่วยเลือกตั้งไม่ได้เกิดจากเจตนาหรือความตั้งใจที่ไม่ดี แต่อียูก็ได้ไปเยี่ยมชมหน่วยเลือกตั้งแค่ไม่กี่แห่ง และการทำผิดยังอาจเกิดขึ้นระหว่างการนับคะแนนก็ได้

โรเบิร์ต คูปเปอร์ เพื่อนเก่าแก่ของซูจีและเป็นที่ปรึกษาของนางแคธรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศอียู ให้ทัศนะว่า แม้การเลือกตั้งวันนี้ยังไม่เสร็จสิ้น แต่เป็นไปได้ว่านี่คือการเลือกตั้งที่แท้จริงครั้งแรกของประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ส กล่าวว่า ยังมีคำกล่าวหาของพรรคเอ็นแอลดีว่ามีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอยู่อีกแม้ขณะที่เปิดหีบเลือกตั้งแล้ว เช่น บัตรลงคะแนนบางใบถูกเคลือบด้วยขี้ผึ้งทำให้การกากบาททำได้ยากขึ้น หรือกระทั่งกล่าวหาว่าพรรคยูเอสดีพีเฝ้าด้านนอกคูหาและคอยบอกให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนให้พรรค

นางซูจี เคยกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเสรีและยุติธรรมอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีการทำผิดกฎหมายหลายอย่างจนเกินยอมรับได้ ทั้งการข่มขู่ผู้สมัครหรือการสวมสิทธิ์คนตาย แต่ยืนยันว่าพรรคไม่เสียใจที่ยอมเข้าร่วมการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

หลายคนระแวงสงสัยว่า การที่นางซูจียอมทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลซึ่งยังคงเต็มไปด้วยอดีตนายพลที่เคยปราบปรามเข่นฆ่าฝ่ายต่อต้าน จะทำให้นางถูกใช้ประโยชน์เพื่อทำให้โลกตะวันตกยุติการคว่ำบาตรและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ระบบนิติบัญญัติ ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่าการตัดสินใจหนุนการปฏิรูปของเต็ง เส่ง และลงสมัครเลือกตั้ง ถือเป็นเดิมพันของครั้งใหญ่ของซูจีเช่นกัน

หม่อง ซาร์นี ผู้เชี่ยวชาญชาวพม่าจากลอนดอน กล่าวว่า ซูจีอยู่ใน “ระบบพึ่งพาอาศัยกันและกันในทางยุทธศาสตร์” กับพวกนายพลและอดีตนายพล “พวกเขาต้องการนางและนางก็ต้องการพวกเขาเพื่อยุติภาวะทางตันทางการเมือง นางเธอกุญแจสำคัญที่รัฐบาลต้องการเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติและฟื้นความสัมพันธ์กลับเป็นปกติ” ขณะเดียวกัน นางซูจีก็สามารถใช้อิทธิพลของนางท้าทายรัฐบาลจากในสภาได้เช่นกัน

Credit : Thaipost, Kapook.com

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ