จุฬาฯ พบเชื้อมือ เท้า ปาก กลายพันธุ์ ระบาดเด็กโตด้วย

ผู้เชี่ยวชาญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบการกลายพันธุ์ของเชื้อเอนเทอโรไวรัสและเชื้อคอกซากี สาเหตุโรค มือ เท้า ปาก เตือนรักษาสุขอนามัยเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแถลงภายหลังจากการประกาศสั่งปิดโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมว่า การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ทั้งประเทศครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดตั้งแต่ทำงานในภาควิชากุมารเวชศาสตร์มา 30 ปี

จากการที่โรงพยาบาลทั่วประเทศส่งเชื้อไวรัสเข้ามาให้ตรวจสอบพบว่า เชื้อไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์จากเชื้อคอกซากี A16 ร่วมกับเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5 เปลี่ยนมาเป็นคอกซากี A6 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ครั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า มีการแพร่ระบาดในเด็กโตเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 12 ปี จากเดิมพบเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นคนละสายพันธุ์ที่พบการระบาดในเวียดนาม และกัมพูชาที่ทำเด็กเสียชีวิตไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย มักจะเกิดขึ้นในฤดูฝนช่วงเปิดเทอมแรกของทุกปี จากการศึกษาในปี พ.ศ.2551 พบว่าเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ C4, ในปีพ.ศ.2552 เริ่มมีการพบคอกซากี A16 ร่วมกับเอนเทอโรไวรัส 71 และผลการศึกษาในประเทศไทยในปี 2553-2554 พบการระบาดของเชื้อคอกซากี A16 และเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5

และสำหรับในปี 2555 นี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พบการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากี A6 ประมาณร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 เกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5 ซึ่งสาเหตุที่โรคนี้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง คาดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเป็นคอกซากี A6 และจากการตรวจสอบระบบภูมิคุ้มกันของประชากรไทยพบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีวัคซีนและยาต้านไวรัสในการรักษา โรคส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน สำหรับการขับถ่ายเชื้อโรคออกจากร่างกายจะใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ ดังนั้น ผู้ป่วยทุกรายไม่ควรไปโรงเรียน ให้หยุดพักรักษาที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ และควรปิดโรงเรืยน เพื่อลดการระบาดของโรค นอกจากนี้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รับประทานอาหารที่สุก สะอาด

ปิดแล้ว! 100 โรงเรียน หลังโรคมือ เท้า ปาก ระบาด สธ.ยันป่วยปิดทันที

 อธิบดีกรมควบคุมโรค เร่งทำตาม มติ ครม. ป้องกันดูแลการระบาดของโรคมือเท้าปากในประเทศไทย ร่อนหนังสือ ถึง 4 กระทรวง พบเด็กป่วยปิด โรงเรียนทันที ล่าสุด ปิดแล้ว กว่า 100 โรงทั่วประเทศ

น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่ ครม. มีมติให้ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค หามาตรการป้องกันดูแลการระบาดของโรคมือเท้าปากในประเทศไทยในช่วงนี้  ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรมได้ตั้งศูนย์ดูแลเรื่องนี้มาตลอด  มีการรายงานตัวเลขคนป่วยโรคนี้ทุกวัน และวันนี้จะทำหนังสือชี้แจงถึงขั้นตอนการปฏิบัติไปถึง 4 กระทรวงหลัก ที่มีโรงเรียนในสังกัด คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม

โดยในหนังสือฉบับดังกล่าว จะเป็นการชี้แจงรายละเอียดในการดูแลเด็กนกัเรียน หากเกิดการระบาดในโรงเรียนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด ถือว่าโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมากในการตัดตอนเชื้อโรคที่จะแพร่กระจาย โดยมีการสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 100 แห่งแล้ว และทางกรมฯ ก็เข้าไปจัดการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโดยด่วน โดยมตรฐานปัจจุบันหากพบเด็กป่วยจะสั่งปิดโรงเรียนเพื่อฆ่าเชื้อทันที

อธิบดีกรมคุมโรค กล่าวอีกว่า เชื้อโรคมือ เท้า ปาก ที่พบในกัมพูชา ที่เรียกว่าเชื้อแบบ ซี 4 นั้น ในประเทศไทยเชื้อตัวนี้มีมามานานแล้ว เมื่อ 40-50 ปีก่อน  เพียงแต่ปีนี้มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านมาก และมีคนตาย  จึงเป็นที่หวั่นวิตกของประชาชน แต่ในประเทศไทย ยืนยันว่า ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพพอที่จะรับมือได้ จึงไม่ปรากฏผู้เสียชีวิตจากโรคนี้

Credit by Kapook

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ