‘ขบวนการมันฝรั่ง’ กอบกู้วิกฤติ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’

วิกฤติของประเทศกรีซ  แม้แต่เด็กน้อยยังไม่มีอะไรจะกิน

วิกฤติของประเทศกรีซ แม้แต่เด็กน้อยยังไม่มีอะไรจะกิน

‘ขบวนการมันฝรั่ง’ กอบกู้วิกฤติ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย…บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

คำทำนายที่ว่าโลกจะแตกในตอนปลายปี 2555 นี้ดูท่าจะเป็นไม่ใช่จริงน้อย แต่ไม่ใช่แตกเป็นเสี่ยงๆ จากสภาพดินฟ้าอากาศที่เกิดวิปริตผิดอาเพศเกือบทั่วทุกมุมโลก ทั้งปัญหาแผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม ฯลฯ แต่หมายถึงสังคมโลกกำลังแตกสลายจากวิกฤติ “แพงทั้งแผ่นดิน” เริ่มจากไทยแลนด์แดนแค่นยิ้มลามไปจนถึงทวีปเก่ายุโรป โดยเฉพาะในแดนดินถิ่นเทพปกรณัมกรีก ซึ่งเหล่าทวยเทพแถบเทือกเขาโอลิมปัสกำลังสะอื้นไห้เมื่อเห็นแผ่นดินใกล้จะลุกเป็นไฟ

“เอานักการเมืองคืนไป เอาหัวใจของชาวกรีกคืนมา” ชาวกรีกหลายคนต่างร้องตะโกนระหว่างการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายนนี้ เพื่อจะชี้ชะตาอนาคตของประเทศว่าจะอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่ หลังจากเศรษฐกิจในประเทศมีแต่เป็นสาละวันเตี้ยลงมานานถึง 5 ปีท่ามกลางความล้มเหลวของนักการเมืองที่พยายามใช้การเมืองมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับยิ่งทำให้ท้องไส้ของชาวกรีกหิวโหยมากขึ้น

ในเมื่อไม่สามารถหาวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้วิกฤติ “แพงทั้งแผ่นดิน” ได้ ชาวกรีกก็งัดไม้ตายสุดท้ายมาใช้ นั่นก็คือร่วมกันกอบกู้จิตวิญญาณแท้จริงของเหล่าทายาททวยเทพโอลิมปัส จิตวิญญาณที่เป็นอิสระ หยิ่งทระนง ไม่ยอมศิโรราบให้แก่การเมือง แต่ก็พร้อมเสียสละเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการรัดเข็มขัด ด้วยการปลดพนักงาน ลดเงินเดือน สวัสดิการและบำนาญ รวมถึงขึ้นภาษีหลายระลอกในช่วงกว่า 2 ปีนี้เพื่อกู้วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยจนเกิดภาวะเงินฝืดติดต่อกันมา 5 ปี  แต่จำนวนคนว่างงานมีแต่พุ่งขึ้นปีละกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เป็นกว่าหนึ่งล้านคนแล้ว หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 336,500 ราย

ตามด้วยปัญหาสังคมอื่น อาทิปัญหาหัวขโมยอาละวาดหนักช่วงที่ชาวกรีกเกิดตื่นตระหนกว่าอาจจะต้องพ้นจากกลุ่มยูโรโซน จึงแห่กักตุนอาหารและถอนเงินมาเก็บไว้ที่บ้าน เชื่อว่าตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชาวกรีกได้ถอนเงินออกจากธนาคารต่างๆ แล้วกว่า 72,000 ล้านยูโร หรือเฉลี่ย 7,000 ยูโรต่อคน

ผลตามมาก็คือราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคนอกจากจะแพงขึ้นราว 3.7 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี แล้ว ยังขาดตลาดอีกด้วย สวนทางกับราคาพืชผลทางเกษตรที่มีแต่ถูกกดให้ต่ำจนเกือบจะเรี่ยดิน พอๆ กับพืชผลทางเกษตรในแดนดินถิ่นเจ้าพระยาไม่มีผิด จากรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติของกรีซระบุว่านับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ราคามันฝรั่งลดลงไปแล้ว 24.6 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์

“สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ฉันใดก็ฉันนั้น แต่ครั้งนี้วีรบุรุษคนใหม่ของชาวกรีกไม่ใช่ทวยเทพ ไม่ใช่นักการเมืองหากแต่เป็น “ขบวนการมันฝรั่ง” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง อาหารของคนยากในทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากมีราคาถูกกว่าพืชผักอื่นๆ

ขบวนการนี้เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อชาวนากลุ่มหนึ่งจากหมู่บ้านเนฟโรโกปิ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันฝรั่งใหญ่สุดของประเทศได้ขนมันฝรั่งไปแจกจ่ายฟรีให้แก่ชาวบ้านในเมืองเทสซาโลนิกิ ทางตอนเหนือของประเทศ แทนที่จะปล่อยให้มันฝรั่งเน่าไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่เหมือนกับของไทยที่รัฐซื้อหอมแดงจากชาวบ้านเพื่อช่วยพยุงราคา จากนั้นก็ปล่อยให้เน่าเหม็นไปทั่วหมู่บ้านโดยไม่คิดจะนำไปแจกจ่ายหรือหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่ม

การแจกมันฝรั่งฟรีนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ที่รัฐสั่งนำเข้ามันฝรั่งจากอียิปต์ แต่กลับไม่คิดจะหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งที่เรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ เนื่องจากราคามีแต่รูดร่วงมหาราชเหมือนกับราคาพืชผลทางเกษตรของไทยไม่มีผิด

เมื่อรัฐไม่ยอมเหลียวแล เกษตรกรกรีซจึงช่วยกันหาทางออกตามมีตามเกิด ด้วยการตัดพ่อค้าคนกลางที่คอยเอาเปรียบเกษตรกรออกไปจากวงจร เกษตรกรกับผู้บริโภคจะได้ติดต่อซื้อขายกันโดยตรงในราคาที่ถูกลงและเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย และสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่สามารถตัดวงจรพ่อค้าคนกลางหน้าเลือดออกไปได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

เกษตรกรรายหนึ่งเผยว่า ต้นทุนในการปลูกมันฝรั่ง 1 กิโลกรัมจะสูงประมาณ 20 เซนต์ (ราว 7 บาท) แต่ผู้ค้าส่งกดราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 10-12 เซนต์ (ราว 3-4 บาท) เท่านั้น แต่กลับไปวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตกิโลกรัมละ 60-70 เซนต์ (ราว 18 บาท) ทำให้เกษตรกรต้องขาดทุนยับเยินแต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ด้วยความโกรธที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เกษตรกรรายหนึ่งจึงบรรทุกมันฝรั่งจำนวน 24 ตันไปวางขายในราคาถูกในเมืองคาเทรินี บริเวณเชิงเขาโอลิมปัสทางตอนเหนือของประเทศ ปรากฏว่ามีประชาชนแห่เข้าแถวรอซื้อมันฝรั่งถุงใหญ่จำนวนมากเกินคาด จากนั้น ก็ยังมีลูกค้าในหลายเมือง รวมทั้งกรุงเอเธนส์ เมืองคาวาลา และลาริซซา หรือแม้แต่เมืองปีร์กอส ที่อยู่ห่างไกลออกไปมากติดต่อขอซื้อมันฝรั่งจำนวนมากด้วย

       การเติบโตของขบวนการมันฝรั่ง

ผู้เป็นต้นคิดเรื่องการตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไปจากระบบก็คือ “กลุ่มกิจอาสาแห่งปิเอเรีย” ในเมืองคาเทรินี กลุ่มนี้ได้รวมตัวกันเมื่อปี 2550 หลังจากเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่สุดในประเทศ ทำลายพื้นที่เกษตรกรรมจนราพนาสูร เพื่อช่วยกันติดตั้งระบบสัญญาณเตือนไฟป่าล่วงหน้า และนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ กลุ่มนี้ก็ง่วนอยู่กับการตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อแจกมันฝรั่งฟรีให้แก่คนที่กำลังหิวโหยไม่มีอะไรจะกิน

หลังจากได้ยินข่าวเรื่องการแจกมันฝรั่งที่เทสสาโลนิกิ “ขบวนการมันฝรั่ง” ก็รีบเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งราคามันฝรั่งที่วางขายในเมืองคาเรรินิในราคากิโลกรัมละ 25 เซนต์ หรือถูกกว่าราคาตลาดราว 1 ใน 3

จากนั้น ขบวนการนี้ก็ขยายตัวไปที่มหาวิทยาลัยอริสโตเตเลียนในเทสซาโลนิกิ โดยศาสตราจารย์ผู้หนึ่งพร้อมด้วยนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้อาสาเป็นคนขายมันฝรั่งราคาถูกในมหาวิทยาลัยตกกิโลกรัมละ 10 บาท หรือเกือบ 1 ใน 3 ของราคาที่ขายในซูเปอร์มารเก็ต แต่แรกคิดว่าคงขายได้สัก 3-4 ตันเป็นอย่างเก่ง ที่ไหนได้แค่วันแรกก็ขายได้ถึง 50 ตัน แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของผู้บริโภคที่ยืนออรอซื้ออีกแม้จะขายหมดแล้วก็ตาม ขณะนี้ เมืองนี้ก็ได้วางขายมันฝรั่งราคาถูกเป็นประจำ

ที่กรุงเอเธนส์ มีการวางขายมันฝรั่งราคาถูกด้วยเช่นกัน โดยอาสาสมัครคนหนึ่งเผยว่า น่าประหลาดใจไม่ใช่น้อย ที่มีคนยอมเข้าแถวรอหลายชั่วโมงท่ามกลางอากาศหนาวอุณหภูมิติดลบเพื่อซื้อมันฝรั่ง ชายคนหนึ่งยอมรับว่าขณะนี้ในครอบครัวมีคนตกงานถึง 5 คน ทำให้ต้องหันมากินมันฝรั่งราคาถูก

ผลจากการจัดระบบขายตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค “ขบวนการมันฝรั่ง” สามารถเปลี่ยนระบบตลาดบริโภคใหม่ “การแข่งขันมีมากขึ้น ร้านค้าซึ่งครั้งหนึ่งเคยขายในราคา 75 เซนต์ก็ยอมหั่นราคาลงเหลือแค่ 45 เซนต์ บางแห่งยังร่วงไปถึง 19 เซนต์”

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือใช่แต่จะทำให้มันฝรั่งมีราคาถูกลงจนคนจนสามารถหาซื้อได้ทั่วไปแล้ว พืชผลทางเกษตรและอื่นๆ อาทิ น้ำมันมะกอก แป้ง ข้าวและน้ำผึ้งก็เริ่มมีการขายตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคเช่นกัน สามารถหั่นราคาในตลาดลงถึงครึ่งหนึ่ง

จากความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายสินค้าเกษตรจากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางดังกล่าว ทำให้ “ขบวนการมันฝรั่ง” ขยายตัวไปตามหัวเมืองในกรีซและอาจจะกลายเป็นขบวนการการค้าข้ามชาติไปในที่สุด เมื่อมีการชักชวนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันฝรั่งในเมืองเนฟโรโกปี เมืองชายแดนทางตอนเหนือของกรีซติดกับบัลแกเรียให้ขายผลผลิตโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค และขายได้ในราคาสูงกว่าที่ขายผ่านพ่อค้าคนกลางถึง 1 เท่าตัว ถ้าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีก็จะผลักดันให้เกิดเครือข่ายการนำเสนอสินค้าเกษตรโดยตรงถึงมือผู้บริโภคในประเทศยุโรปอื่นๆ ต่อไป

แต่การเติบโตของ “ขบวนการมันฝรั่ง” ก็ใช่ว่าจะไม่มีคู่แข่ง “ตอนนี้สงครามได้ระเบิดขึ้นแล้ว” เนื่องจากศูนย์จัดเก็บและบรรจุมันฝรั่งซึ่งขึ้นตรงกับพ่อค้าขายส่งได้ขึ้นราคาเรียกเก็บจากผู้ผลิต ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ใช่ว่าเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งทุกคนจะสำนึกในบุญคุณของขบวนการนี้ที่ช่วยหาทางช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ล้มละลาย หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องของกลไกตลาด ทั้งยังบ่นว่าราคามันที่ขายนั้นถูกเกินไป

อย่างไรก็ดี เกษตรกรไม่ใช่น้อยยินดีให้ความร่วมมือในการขายมั่นฝรั่งในราคากิโลกรัมละ 25 เซนต์ อย่างน้อยก็ทำให้มีเงินสดอยู่ในมือจนกว่าจะถึงฤดูปลูกในปีหน้า ส่วนคนที่ยืนกรานจะขายในราคาสูงขึ้น สุดท้ายก็ขายไม่ออก จำใจต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลางที่ชายแดนติดกับบัลแกเรียในราคากิโลกรัมละแค่ 10 เซนต์ แถมยังได้รับเป็นเช็คไม่ใช่เงินสด แต่เกษตรกรหลายคนก็พยายามช่วยตัวเองด้วยการประกาศขายผ่านออนไลน์

นักวิจารณ์หลายคนเชื่อว่าการที่ “ขบวนการมันฝรั่ง” เติบโตได้เป็นเพราะวัฒนธรรมของกรีซเองที่ไม่นิยมขอความช่วยเหลือจากนักการเมือง แต่ชอบช่วยเหลือกันเองมากกว่า ในการขายมันสั่งแต่ละครั้งจะมีคนสั่งซื้อถึง 5,500 ออเดอร์ จนถึงขณะนี้ มีคนเข้าร่วมขบวนการนี้ราว 45,000 รายหรือกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในเมือง เทียบกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมักจะมีคนเข้าร่วมอย่างมากแค่ 50-60 คนแล้ว ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จเกินความคาดหมาย

ใครจะไปเที่ยวกรีซตอนนี้ ก็ทำใจได้เลยว่าจะมีมันฝรั่งเป็นอาหารหลักแน่

 

Credit:  คม  ชัด  ลึก

 

แบ่งปันข่าวสาร Like & Share ให้ด้วยนะค่ะ